เมื่อวันที่ ๑๗ - ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภริยา พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๖ ที่กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี โดยในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ มีการเสวนาระหว่างผู้นำเอเปคกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจ และกับผู้นำกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก จากนั้นในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เป็นการประชุมของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยผู้นำได้แลกเปลี่ยนมุมมองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ในหัวข้อ “การสร้างโอกาสอย่างครอบคลุมเพื่อเปิดรับอนาคตทางดิจิทัล” ที่กำหนดโดยปาปัวนิวกินี
การประชุมระดับผู้นำได้เสร็จสิ้นลงแล้ว แม้จะเป็นที่น่าเสียดายว่า จะไม่มีการออกปฏิญญาผู้นำของการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากขาดฉันทามติเกี่ยวกับมุมมองในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ แต่ท้ายที่สุด ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เจ้าภาพออกเอกสารถ้อยแถลงของประธานเป็นผลลัพธ์การประชุม ซึ่งน่าจะครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่ไทยเห็นพ้องและให้การสนับสนุน เช่น การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และส่งเสริมขีดความสามารถของ SMEs การมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของสตรีในระบบเศรษฐกิจ การส่งเสริมการทำ “ธุรกิจเขียว”และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคว่า ไทยยึดมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และพร้อมร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ภายใต้กรอบเอเปคต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอประเด็นเพื่อให้สมาชิกเอเปคขยายความร่วมมือ ดังนี้ การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดกฎเกณฑ์ภายใต้ WTO การดำเนินการไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) การพัฒนาทักษะและการศึกษาเพื่อรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล การสร้างศักยภาพและบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรมและประมงที่ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้าช่วย รวมทั้งได้ยกตัวอย่างโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio, Circular and Green Economy) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ดีของไทยสำหรับการส่งเสริม “เศรษฐกิจเขียว”และที่สำคัญ ได้กล่าวเน้นว่า ไทยมุ่งผลักดันเชื่อมโยงในทุกกรอบความร่วมมือ เช่น ACMECS อาเซียน และเอเปค และเสนอให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เช่น CPTPP RCEP และ Belt and Road Initiative เพื่อให้ขับเคลื่อนไปในทางเดียวกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ในโอกาสที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ กรอบอาเซียนก็จะให้ความสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเด็นที่เอเปคให้ความสำคัญด้วย
สำหรับวิสัยทัศน์ของเอเปคหลังปี ค.ศ. ๒๐๒๐ นั้น นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิด “Rebalancing APEC” ที่เน้นส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าควบคู่กับการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและส่งเสริมธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับการเข้าร่วมเสวนาระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ นั้น ได้มีการพูดคุยกันในหลายประเด็น โดยภาคธุรกิจได้สอบถามถึงมุมมองต่อการดำเนินการของไทยในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงทัศนะว่า การเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลมีความสำคัญเช่นเดียวกับการเตรียมความพร้อมด้วยการปรับปรุงกฎระเบียบ การปรับระบบการศึกษาเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะด้านอาชีพให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งไทยได้ดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง เช่น โครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ การร่วมมือกับภาคเอกชนจัดตั้ง platform เพื่อส่งเสริม MSMEs ใช้ประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการเข้าสู่ตลาดโลก
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสประชุมครั้งนี้ พบปะและสนทนาอย่างเป็นมิตรกับผู้นำเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น แคนาดา นิวซีแลนด์ และฮ่องกง
อนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ฝ่ายปาปัวนิวกินีได้เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๐ ซึ่งนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนางสาวอรุณี พูลแก้ว รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว