รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเข้าร่วมการประชุม ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๓ ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ สิงคโปร์ โดยจะเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๑๘ (18th APSC Council Meeting) และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council: ACC) ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ จากนั้น จะร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๓ และการประชุมสุดยอดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ที่ประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ACC) จะประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๓ และการประชุมสุดยอดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาร่างกำหนดการ วาระการประชุม การเตรียมการด้านพิธีการ และเอกสารผลลัพธ์ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานตามผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๒ โดยรับทราบผลการดำเนินงานจากเลขาธิการอาเซียน โดยในการประชุมนี้ ไทยจะผลักดันประเด็นสำคัญ อาทิ การดำเนินงานของเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน การสนับสนุนการส่งคณะ fact-finding mission ไปศึกษาความพร้อมของติมอร์-เลสเตในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน รวมถึงจะรายงานผลการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนในด้านนี้ พร้อมทั้งจะขอให้ที่ประชุมรับรองร่างเอกสารแนวคิด-ขอบเขตอำนาจหน้าที่ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๓ รับทราบต่อไป
การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC Council Meeting) เป็นกรอบการประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นอย่างน้อยปีละสองครั้ง โดยปกติจะจัดในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนก่อนการประชุมระดับผู้นำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามสถานะการดำเนินงานขององค์กรอาเซียนรายสาขา (ASEAN Sectoral Bodies) และกลไกการประชุมภายใต้เสาการเมืองและความมั่นคง และติดตามความคืบหน้าของการปฏิบัติตามแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC Blueprint 2025) ในการประชุมฯ ครั้งนี้ ไทยจะสนับสนุนให้อาเซียนเป็นประชาคมที่อยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา และมีประชาชนเป็นศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้อาเซียนมีความเชื่อมโยงทั้งในอาเซียนและกับยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ในภูมิภาค (connecting the connectivities) และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิกโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ ไทยยังให้ความสำคัญกับประเด็นการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ การบริหารจัดการชายแดน การรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ