เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ ระหว่างเวลา ๑๔.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ประสบการณ์การทำงานในเรื่องคนไร้รัฐ พัฒนาการและข้อท้าทายในการขจัดความไร้รัฐในประเทศไทย” โดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้เข้ารอบสุดท้ายจากภูมิภาคเอเชียของรางวัล Nansen Refugee Award ประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๘ ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิด และมีคณะทูตานุทูต ผู้แทนส่วนราชการ สถาบันการศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วม ประมาณ ๑๐๐ คน
รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำนโยบายของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐอย่างเป็นระบบและมีพัฒนาการเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมอบสถานะทางกฎหมาย การรับแจ้งเกิดและออกสูติบัตร การแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิอาศัยและการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม โดยไทยเป็นหุ้นส่วนที่ดีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) และได้รับการชูบทบาทในการเป็นตัวอย่างของภูมิภาคเรื่องการแก้ไขและป้องกันปัญหาบุคคลไร้รัฐในประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศร่วมก่อตั้งกลุ่ม Group of Friends (GoF) ของโครงการ Global Campaign to End Statelessness by 2024 หรือ โครงการ #IBelong Campaign ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ โดยมีเป้าหมายขจัดปัญหาบุคคลไร้รัฐให้หมดไปภายใน ๑๐ ปี คือ ปี ๒๕๖๗ (ค.ศ. ๒๐๒๔) ด้วย
นางเตือนใจฯ ได้เริ่มการบรรยายโดยกล่าวถึงประสบการณ์และการเรียนรู้กว่า ๔๐ ปี ในเรื่องการขจัดคนไร้รัฐในประเทศไทยผ่านมุมมองเกี่ยวกับประเด็นอัตลักษณ์ คุณค่า และความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ และได้สรุปนโยบายและสถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์และการไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ทั้งพัฒนาการเชิงบวก เช่น การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ รับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรแก่เด็กทุกคนที่เกิดในไทย การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ และความท้าทายที่สำคัญ เช่น สิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน สิทธิในสถานะบุคคลทางกฎหมาย ความสมดุลมั่นคงในการดำรงชีวิต และการบริหารจัดการ นอกจากนี้ นางเตือนใจฯ ได้มีข้อเสนอให้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะการเชื่อมข้อมูลทางทะเบียน และการเร่งเสริมสร้างความตระหนักรู้ของประชาชน
การบรรยายดังกล่าวเป็นกิจกรรมภายใต้ชุดการบรรยาย (Lecture Series) เนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และการประกาศวาระแห่งชาติ: สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย ๔.๐ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในห้วงปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๒ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี