นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ ๑๒ และการประชุมผู้นำสหภาพยุโรป – อาเซียน

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ ๑๒ และการประชุมผู้นำสหภาพยุโรป – อาเซียน

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ต.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,977 view

          เมื่อวันที่ ๑๘ - ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ ๑๒ (ASEM12) ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งสหภาพยุโรป ในฐานะเจ้าภาพ ได้กำหนดหัวข้อหลักของการประชุมฯ คือ “หุ้นส่วนระดับโลกเพื่อความท้าทายระดับโลก” (Global Partners for Global Challenges)

          ระหว่างการประชุมเต็มคณะ วาระที่ ๑ ภายใต้หัวข้อ “Building the Future Together: Promoting Inclusive Growth and Sustainable Connectivity” นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม โดยเน้นความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนของเอเชียและยุโรป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการรับมือกับความท้าทายและเสริมสร้างการเติบโตอย่างครอบคลุมผ่านข้อเสนอ ๓ ประการ ได้แก่

  1. การส่งเสริมความเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการสานต่อข้อเสนอที่นายกรัฐมนตรีเคยเสนอไว้ระหว่างการประชุมผู้นำเอเชีย – ยุโรป ครั้งที่ ๑๑ ที่มองโกเลีย เมื่อปี ๒๕๕๙ โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยความยั่งยืนทางทะเลในปี ๒๕๖๒ เพื่อต่อยอดจากความก้าวหน้าของการปฏิรูปภาคประมงไปสู่การแสดงบทบาทนำบนเวทีระหว่างประเทศ
  2. การสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ซึ่งเน้นความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ การพัฒนาทุนมนุษย์ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ทุกประเทศก้าวไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
  3. การเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างยุโรปกับเอเชีย ในฐานะที่ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า ไทยจะนำแผนแม่บทความเชื่อมโยงของ ACMECS และอาเซียน มาประสานกับยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงของยุโรปเพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของทั้งสองภูมิภาค         

          นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำอื่น ๆ ในประเด็นระหว่างประเทศระหว่างการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) โดยย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มพูนความร่วมมือและปฏิสัมพันธ์ระหว่างเอเชียกับยุโรปในทุกด้านบนพื้นฐานของการยึดมั่นในหลักการพหุภาคีนิยม (multilateralism) ที่มีกฎระเบียบในการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อโลกและภูมิภาค ซึ่งต้องอยู่บนหลักการ “3M” ได้แก่ ความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน (mutual trust) ความเคารพซึ่งกันและกัน (mutual trust) และผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual benefit) พร้อมทั้งเสนอให้มีการพัฒนากฎระเบียบระหว่างประเทศเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล ซึ่งไทยเสนอจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อความเชื่อมโยงทางดิจิทัลอย่างยั่งยืนในปีหน้า

          ภายหลังการประชุมผู้นำเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ ๑๒ นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำ สหภาพยุโรป - อาเซียน (EU - ASEAN Leaders’ Meeting) ในฐานะที่ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ โดยได้กล่าวถ้อยแถลงเน้นย้ำค่านิยมร่วมกันในเรื่องภูมิภาคนิยม (regionalism) และพหุภาคีนิยม ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปในการพัฒนาจากการเป็นหุ้นส่วนโดยธรรมชาติ (natural partners) ไปสู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในอนาคต เพื่อนำไปสู่การสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์ (Strategic New Equilibrium) โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสนับสนุนการส่งเสริม ความร่วมมือด้านความเชื่อมโยง การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ สหภาพยุโรปและอาเซียนเห็นพ้องที่จะสนับสนุนความร่วมมือด้านความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเตรียมพร้อมสู่อนาคตเพื่อรับมือกับพัฒนาการและภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น จากการปฏิวัติอุตสากรรมครั้งที่ ๔ ผลกระทบจากเทคโนโลยีก้าวกระโดด (disruptive technologies) หรือการเข้าสู่สังคมสูงวัย เป็นต้น และได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นระหว่างประเทศและประเด็นในภูมิภาคที่สำคัญ เช่น สถานการณ์ในรัฐยะไข่

          ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว นายกรัฐมนตรียังได้พบหารือทวิภาคีกับผู้นำจาก ๘ ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรนอร์เวย์ ราชอาณาจักรเบลเยียม สมาพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐเอสโตเนีย สาธารณรัฐอิตาลี และสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งในการหารือกับผู้นำจากประเทศในยุโรป นายกรัฐมนตรีได้ย้ำให้ทั้งสองฝ่ายมองไปข้างหน้าและร่วมกันส่งเสริมพลวัตความสัมพันธ์โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจผ่านการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ระหว่างไทย - สหภาพยุโรป และเชิญชวนให้ยุโรปเข้ามาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนกระชับการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทั้งสองภูมิภาค รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินการตามโรดแมปเพื่อกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนของไทยในปีหน้า

          นอกจากการหารือทวิภาคีในระดับผู้นำแล้ว นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือทวิภาคีกับนายเปเตอร์ ซิยาร์โท (Péter Szijjártó) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี โดยได้หารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้นักลงทุนฮังการีเข้ามาลงทุนใน EEC และสนับสนุนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในสาขาที่ฮังการีมีความเชี่ยวชาญ เช่น การบริหารจัดการน้ำและการเกษตร รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในภูมิภาคร่วมกัน

          อนึ่ง ในช่วงการประชุม ASEM12 มูลนิธิเอเชีย-ยุโรปAsia-Europe Foundation: ASEF) ได้จัดกิจกรรม ASEF Young Leaders Summit ครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ กรุงบรัสเซลส์ โดยไทยมีนายภูริต บวรชุติชัย นักศึกษาปริญญาเอกด้านนวัตกรรมสุขภาพHealthcare Innovation) ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และร้อยตำรวจเอก เชี่ยวชาญ โชติรัตน์ เจ้าพนักงานสืบสวน สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แทนเยาวชนไทยเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีได้พบปะกับเยาวชนไทยทั้งสองรายเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ ด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ