กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส และภรรยา เข้าร่วมงาน Health Fair และร่วมฟังบรรยายในหัวข้อ “ตับอักเสบและการรักษา

กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส และภรรยา เข้าร่วมงาน Health Fair และร่วมฟังบรรยายในหัวข้อ “ตับอักเสบและการรักษา

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ต.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 พ.ย. 2565

| 655 view

          เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ กงสุลใหญ่ฯ และภรรยา เข้าร่วมงาน Health Fair และร่วมฟังบรรยายในหัวข้อ “ตับอักเสบและการรักษา” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ก้อย พาราดา จาก School of Nursing, Azusa Pacific University ณ First Southern Baptist Church of Anaheim คริสตจักรไทยในแคลิฟอร์เนีย จัดโดยสมาคมพยาบาลไทยแห่งแคลิฟอร์เนีย Azusa Pacific University, School of Nursing Asian Pacific Liver Center และ St.Vincent Medical Center โดยมีศิษยาภิบาลอาวุโส น.พ.สิริชัย ชยสิริโสภณ และศิษยาภิบาล น.พ.วิคเตอร์ ชยสิริโสภณ ผู้อำนวยการโบสถ์คริสตจักรไทยในแคลิฟอร์เนียและนางอรพิน หอมหวล นายกสมาคมพยาบาลไทยแห่งแคลิฟอร์เนีย ให้การต้อนรับ

           กงสุลใหญ่ฯ กล่าวเปิดงานและต้อนรับชุมชนไทยกว่า ๗๐ คน ที่มารับบริการตรวจสุขภาพและรับบริการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ และกล่าวชมเชยความเข้มแข็งของสมาคมพยาบาลไทยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในความริเริ่มในการให้บริการตรวจสุขภาพให้แก่ชุมชนไทย และขอบคุณอาสาสมัครจาก Azusa Pacific University และ Asian Pacific Liver Center ที่ช่วยให้บริการการตรวจฯ และยืนยันว่าสถานกงสุลใหญ่ฯ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ให้แก่ชุมชนไทย ต่อทุกองค์กร สมาคม ชมรม

การบรรยายฯ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบบี มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑.ชนิดของโรคไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งในตับได้ โดยแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ 
๑.๑ ชนิดเฉียบพลันมักจะมีอาการมีไข้ ตัวเหลืองตาเหลือง ปวดท้องใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผื่น ปวดข้อ สามารถเป็นแล้วหายได้ภายใน ๖ เดือน หากตรวจพบร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา และผู้ป่วยส่วนมาก จะไม่กลับมาเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีอีก แต่ถ้าภูมิคุ้มกันไม่สามารถ จัดการกับเชื้อไวรัสได้ ก็จะกลายเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเรื้อรัง
๑.๒ ชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรังมักได้รับเชื้อ มาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทารกหรือวัยเด็ก โดยได้รับจากมารดาในช่วงหลังคลอด

๒.การติดต่อของโรคฯ เชื้อไวรัสตับอักเสบบีนั้นติดต่อกันได้ผ่านทางช่องทางสำคัญ 3 ทาง ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การรับเลือดหรือ สารคัดหลั่งของร่างกายจากผู้เป็นพาหะ เช่นการใช้ของปะปนกัน เช่น แปรงสีฟัน เข็มฉีดยา มีดโกน และถ่ายทอดจากมารดาสู่บุตร

๓.การป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
• ฉีดวัคซีนป้องกัน โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดและเด็กโต
• หลีกเลี่ยงการติดต่อของโรค (ข้อ ๒)
• หากมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี ควรตรวจเลือดเพื่อทราบถึงภาวะของการติดเชื้อก่อนการฉีดวัคซีน

๔.การปฏิบัติตัวหากทราบว่าตัวเองติดเชื้อฯ
• รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
• ไม่ใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์
• รับการตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพราะการตรวจเลือดจะทำให้ทราบว่าตับมีการอักเสบมากหรือน้อย
• บอกให้คนใกล้ชิดทราบ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี หากคนใกล้ชิดนั้นไม่มีภูมิและเชื้อ
• มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยการสวมถุงยางอนามัย
• งดบริจาคเลือด
• ไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
• พักผ่อนให้เพียงพอทั้งร่างกายและจิตใจ
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
• รับประทานทั้งข้าว เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ในปริมาณที่พอเหมาะทุกวัน
• รับประทานอาหารสุกและสะอาด ลดการรับประทานอาหารไขมันสูง เนื้อสัตว์รมควัน และเนื้อสัตว์ที่ไหม้จนเกรียม หรืออาหารที่เก็บถนอมไว้นานๆ ไม่รับประทานอาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่มีเชื้อราขึ้น เช่น ถั่วลิสงป่นที่เก็บไว้นานๆ อาหารที่ใส่ดินประสิว อาหารหมักดอง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม แหนม ปลาร้า ผักดอง ไส้กรอก เบคอน แฮม ฯลฯ และเครื่องกระป๋องต่างๆ ทั้งนี้อาหารประเภทแหนม ปลาร้า เมื่อจะรับประทานต้องทำให้สุกเสียก่อน เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจส่งเสริมทำให้ตับทำหน้าที่บกพร่องมากขึ้น
• ควรตรวจร่างกายและตรวจเลือดหาระดับสารบ่งบอกมะเร็งตับ AFP (alpha-fetoprotein) และทำอัลตราซาวนด์ช่องท้องสม่ำเสมอทุกปีในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีภาวะตับแข็ง เพศชายอายุมากกว่า 45 ปี เพศหญิงอายุมากกว่า 50 ปี และมีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว เพื่อหามะเร็งตับในระยะเริ่มแรก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
• เมื่อต้องรับการผ่าตัดหรือทำฟันควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบ
• หญิงตั้งครรภ์และคลอดบุตร ควรฉีดวัคซีนให้บุตรภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ