เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ เอกอัครราชทูตประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนและการจัดหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ณ มหาวิทยาลัยออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์ โดยมี Professor Frode Vartdal คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล หัวหน้าคณะฝ่ายนอร์เวย์ เข้าร่วมด้วย
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องความร่วมมือด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการมาตรฐานการวิจัยในมนุษย์ (SIDCER- FERCAP) โดยมีบริหารระดับสูงจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้าร่วมลงนาม ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยนางาซากิ ญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยออสโล นอร์เวย์
วัตถุประสงค์ในการลงนาม เพื่อส่งเสริม capacity building บุคลากรวิชาชีพทางการแพทย์ให้ยึดหลักความรับผิดชอบในการประสานงานให้เกิดความกลมกลืนในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในมนุษย์ด้วยจิตสำนึก ภาระรับผิดชอบโดยใช้ความสามัคคี และการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมนักวิจัยให้มีผลงานอันเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
ปัจจุบันประเทศไทย มีศักยภาพสูงด้านการวิจัยทางคลินิก (clinical trial) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาวิจัยทางคลินิกให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ว่าด้วย Good Clinical Practice (GCP) ที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการคุ้มครองสิทธิ ศักดิ์ศรี ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัครและผู้ป่วยที่เข้าร่วมการวิจัยทางคลินิกตามหลักจริยธรรมสากล อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้วิจัยในมนุษย์โดยการใช้ยา หรือการรักษาโรค ที่ปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ เพราะไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการวิจัยในมนุษย์ รวมถึงยังไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนการทำวิจัยในมนุษย์ อย่างกว้างขวาง ดังนั้น การดำเนินโครงการ “มาตรฐานการวิจัยในมนุษย์” ซึ่งเริ่มต้นในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของภาครัฐ มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ที่กำกับดูแลมาตรฐานการวิจัยในมนุษย์ และเพื่อพัฒนาระบบการรับรองคุณภาพคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ จึงเป็นภารกิจส่วนหนึ่งที่สถานทูตมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยทางคลินิกและการวิจัยในมนุษย์ในระดับแนวหน้าของโลก โดยอิงหลักมาตรฐานสากล การดำเนินกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานการทูตวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Science Diplomacy) เพื่อให้ประเทศไทยดำเนินการเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล