ไทยรับแรงงานต่างด้าวทำงานในภาคประมงทะเลผ่านระบบ MOU

ไทยรับแรงงานต่างด้าวทำงานในภาคประมงทะเลผ่านระบบ MOU

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ต.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,556 view
          เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๑ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายเต็ง ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้ร่วมกันเปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดระนองเพื่อรองรับแรงงานเมียนมาที่จะเข้ามาทำงานในภาคประมงทะเลเป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามผลการหารือระหว่างไทยกับเมียนมาผ่านระบบบันทึกความเข้าใจแบบรัฐต่อรัฐ (MOU) โดยจะมีแรงงานจากเมียนมาเข้ามาทำงานในภาคประมงทะเลที่ผ่านระบบ MOU ชุดแรกจำนวน ๖๗ คน
          ศูนย์ดังกล่าวจะปฏิบัติงานในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (one-stop service) เพื่อลดขั้นตอนในการนำเข้าแรงงาน และให้เกิดประสิทธิภาพของการจัดส่งและรับแรงงานเมียนมาเข้ามาทำงานในไทย โดยแรงงานจะได้รับ (๑) การตรวจลงตรา (๒) การลงทะเบียนประวัติแรงงาน (๓) การเข้ารับการอบรมตามแนวทางการทำงานในภาคประมงทะเล และสิทธิสวัสดิการที่เกี่ยวข้อง และ (๔) ใบอนุญาตทำงานแบบอิเล็กทรอนิกส์จากกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะมีการคัดกรองแรงงานต่างด้าวว่ามีนายจ้างจริงตามสัญญาจ้าง เพื่อให้แรงงานสามารถขอรับใบอนุญาตทำงานในภาคประมงทะเลจากกรมประมงต่อไป 
          การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมง โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะนำเข้าแรงงานผ่านระบบ MOU จำนวน ๔๒,๐๐๐ คน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีนายจ้างยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงานจากเมียนมา กัมพูชา และ สปป. ลาว ผ่านระบบ MOU แล้วจำนวน ๑๓,๙๔๙ คน
          นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการเปิดให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในไทยตามมาตรา ๘๓ ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวไปอีกสองปี (หมดอายุในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓) ได้ที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จใน ๒๒ จังหวัดชายทะเล ซึ่งหมดเขตไปเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายนที่ผ่านมา และมีแรงงานต่างด้าวมายื่นขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานรวมทั้งหมด ๖,๐๘๒ คน ทั้งนี้ แรงงานบางส่วนที่ไม่ได้ขอต่ออายุได้ดำเนินการผ่านระบบ MOU แทน และบางส่วนเดินทางกลับประเทศต้นทาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไทยจะสามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานในภาคประมงทะเลได้ตามที่วางเป้าหมายไว้
          รัฐบาลไทยได้รณรงค์อย่างเคร่งครัดให้แรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีใบอนุญาตทำงานเท่านั้น นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจะมีความผิดในข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ต้องโทษปรับ ๑๐,๐๐๐ – ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อแรงงานต่างด้าว ๑ คน และหากทำผิดซ้ำ ต้องโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี ปรับ ๕๐,๐๐๐ – ๒๐๐,๐๐๐ บาท ต่อแรงงานต่างด้าว ๑ คน และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา ๓ ปี ทั้งนี้ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าวในภาคประมงเป็นไปตามมาตรฐานสากล