สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ จับมือ ๓ ธนาคารไทย จัด ๑st Bangkok-Shanghai Economic Conference

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ จับมือ ๓ ธนาคารไทย จัด ๑st Bangkok-Shanghai Economic Conference

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ต.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 901 view

                       เพื่อเป็นการตอบโจทย์รัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติในการส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันและ
 ขีดความสามารถของธุรกิจไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จัดงาน ๑st Bangkok-Shanghai Economic Conference ขึ้น เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๑ ณ โรงแรม Hilton Shanghai Hongqiao นครเซี่ยงไฮ้ โดยการประชุมเป็นกลไกความร่วมมือที่เชื่อมโยงกรุงเทพมหานคร-นครเซี่ยงไฮ้ในฐานะเมืองพี่เมืองน้อง มุ่งเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการธนาคาร เป็นเวทีที่มีนักธุรกิจชั้นนำจากไทย-จีน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนการค้า การลงทุน และการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

          ผู้บริหารธนาคารทั้งสามแห่ง ได้แก่ นายอนันต์ ลาภสุขสถิต รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และนายมาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ร่วมกันให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์กับทั้งนักธุรกิจไทยและจีนที่มาร่วมงานกว่า ๑oo คน โดยมีบุคคลสำคัญจากภาครัฐจีนเข้าร่วมให้ข้อมูลด้วย ได้แก่ นาย Sun Weimin เลขาธิการ Shanghai Public Diplomacy Association และนาง Zong Yuyan รองผู้อำนวยการ Shanghai Municipal Commission of Commerce

          ในการกล่าวเปิดการสัมมนา น.ส.ศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้กล่าวถึงโอกาสการลงทุนของจีนในไทย โดยเฉพาะในห้วงที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการก้าวพ้นกับดักชนชั้นกลาง และการผลักดันนโยบายประเทศไทย ๔.0 และเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยหยิบยกอุตสาหกรรม S-Curve ใหม่ อาทิ ด้านการบิน อุตสาหกรรมดิจิทัล และเทคโนโลยีทางการเงินที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์จีน Made in China ๒o๕๒ และการเป็นมหานครด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของนครเซี่ยงไฮ้ในปี ค.ศ. ๒o๒o โดยผู้บริหารธนาคารทั้งสามแห่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน และให้ข้อแนะนำแก่นักธุรกิจไทยว่า ควรเร่งปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ ใช้ platform
e-commerce ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด และใช้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวจีนในไทยเป็นตัวช่วยส่งเสริมสินค้าไทยให้เป็นที่นิยมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยขยายตลาดในจีนอย่างได้ผลรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ภาคการธนาคารเองก็ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับ disruptive technology อย่างเลี่ยงไม่ได้

          ส่วนนาย Sun Weimin เลขาธิการ Shanghai Public Diplomacy Association ได้แสดงทัศนะเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ว่าจีนจำเป็นต้องตอบโต้สหรัฐฯ เช่นกัน อย่างไรก็ดี จีนใช้เรื่องนี้ให้เป็นโอกาสปรับภาพลักษณ์ใหม่ส่งเสริมนโยบายการเปิดเสรีทางการค้าและโลกาภิวัฒน์  นักธุรกิจไทยจึงต้องจับตา อ่านเกมส์ให้ออก และตั้งหลักรับมือกับผลกระทบ ซึ่งจะมีทั้งด้านลบและด้านบวกกับไทย

นอกจากจะให้ความรู้แก่นักธุรกิจไทยแล้ว สถานกงสุลใหญ่ฯ และผู้บริหารธนาคารทั้งสามแห่ง ยังใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลเรื่องโอกาสกับสิทธิประโยชน์และเชิญชวนนักธุรกิจจีนไปลงทุนในเขต EEC ซึ่งปรากฏว่า นักธุรกิจจีนตื่นตัวและสนใจซักถามประเด็นต่าง ๆ อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทย การได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในเขต EEC และการต่อยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยวของจีนที่ไปไทยมากถึง๑o ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ ผู้บริหารองค์กร Chinese Aging Well Association ประกาศว่า สนใจจะร่วมมือกับโรงพยาบาลในไทย เพื่อส่งเสริมธุรกิจการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัย ซึ่งไทยมีศักยภาพและอยู่ในระดับแนวหน้า ในตอนท้ายของการสัมมนา นักธุรกิจไทย-จีน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย     

มหานครเซี่ยงไฮ้ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการค้า การเงินการธนาคาร การคมนาคม รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีภาพลักษณ์ของความเป็นสากล ก้าวหน้าและทันสมัย และในปี ค.ศ. ๒o๒o รัฐบาลจีนตั้งเป้าให้เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางของโลกด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยเหตุนี้ นักธุรกิจจากทุกมุมโลกจึงมุ่งหน้ามายังเซี่ยงไฮ้ เพื่อใช้   เซี่ยงไฮ้เป็นฐาน รวมทั้งนักธุรกิจไทยทั้งรายเล็กและรายใหญ่กว่า 25 รายที่ลงหลักปักฐานในมหานครแห่งนี้ แน่นอนว่า พี่ใหญ่สุดคือ ซีพี ที่มาปักธงในเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ จนถึงรายล่าสุดอย่างแบรนด์เถ้าแก่น้อย ที่เพิ่งเปิดสำนักงานที่นี่เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา

บทบาทของสถานกงสุลใหญ่ฯ ในการสนับสนุนภาคเอกชนไทย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเก่าที่มั่นคงแล้ว หรือ
รายใหม่และ SMEs ที่กำลังหาช่องทางเจาะตลาดจีน คือการติดอาวุธให้นักธุรกิจไทยรู้เท่าทันแนวโน้มเศรษฐกิจโลก นโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลจีน รวมถึงเรื่องเด่นประเด็นร้อน เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน  Fintech ทิศทางสกุลเงินหยวน และที่สำคัญกว่านั้น คือการสร้าง platform ให้นักธุรกิจไทยได้เข้าถึงผู้บริหารภาครัฐจีน และการหาพันธมิตรสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจจีน นับเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับนักธุรกิจไทย ซึ่งเป็นที่มาของการจัดงาน ๑st Bangkok-Shanghai Economic Conference ในครั้งนี้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ