เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๑ นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุม High-level Plenary Meeting to Commemorate and Promote the International Day for the Total Elimination of Nuclear Weapons ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยมีนาง María Fernanda Espinosa Garcés ประธานสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ ๗๓ เป็นประธาน และมีนาย Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติเข้าร่วม
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามของอาวุธนิวเคลียร์ต่อมนุษยชาติ และย้ำความจำเป็นในการขจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปี ๒๕๕๖ (UNGA68) ที่เห็นพ้องให้วันที่ ๒๖ กันยายนของทุกปีเป็นวันสากลแห่งการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ โดยมีรัฐสมาชิกและองค์การระหว่างประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งย้ำความสำคัญของกรอบความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิสนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-proliferation of Nuclear Weapons: NPT) สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty: CTBT) และสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons: TPNW)
ในโอกาสนี้ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงของไทยโดยย้ำความสำคัญของการดำเนินการเพื่อขจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดสิ้นที่ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วม ตลอดจนการสนับสนุนสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยสนธิสัญญาTPNW เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ นอกจากนี้ ยังได้เป็นสักขีพยานในพิธี High-Level Ceremony for Further Signatures and Ratifications for the Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons (TPNW) โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพร่วม (co-sponsor) กับออสเตรีย บราซิล นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย ไอร์แลนด์ เม็กซิโก ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ โดยมีรัฐสมาชิกที่ได้ลงนามในสนธิสัญญา TPNW อีก ๗ ประเทศ ได้แก่ แอนติกาและบาร์บูดา เบนิน บรูไนดารุสซาลาม กินีบิสเซา เมียนมา ติมอร์เลสเต และเซเชลส์ รวมทั้งได้ให้สัตยาบันเพิ่มอีก ๔ ประเทศ ได้แก่ แกมเบีย ซามัว ซานมารีโน และวานูอาตู ทำให้ปัจจุบันมีรัฐสมาชิกที่ได้ลงนามในสนธิสัญญา TPNW แล้ว ๖๗ ประเทศ และรัฐสมาชิกที่ได้ให้สัตยาบันรวม ๑๙ ประเทศ