รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยื่นสัตยาบันสารเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยื่นสัตยาบันสารเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,667 view
          เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๑ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยื่นสัตยาบันสารเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty: CTBT) ของไทยแก่นาย Santiago Villalpando หัวหน้าฝ่ายสนธิสัญญา สำนักงานกิจการด้านกฎหมายแห่งสหประชาชาติ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาดังกล่าว ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๓ (UNGA73) ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยมีนาย Lassina Zerbo เลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเตรียมการสำหรับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Preparatory Commission of the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization: CTBTO PrepCom) นาย Thomas Markram ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติ นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายวิทวัส ศรีวิหค เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ และนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยาน
          ภายหลังการยื่นสัตยาบันสาร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนาย Lassina Zerboเลขาธิการบริหาร CTBTO PrepCom โดยนาย Zerbo ได้แสดงความยินดีที่ไทยให้สัตยาบันเป็นภาคี CTBT ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีประเทศสมาชิกยื่นสัตยาบันสารครบ และกล่าวชื่นชม การดำเนินการของไทยเพื่อรับรองสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี (สถานี RN65 ตั้งที่จังหวัดนครปฐม) และการเข้ารับตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายนอกCTBTO โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของไทยวาระปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๒ ซึ่งประจวบกับการที่ไทยจะเข้ารับหน้าที่ประธานอาเซียน และแสดงให้เห็นบทบาทนำของไทยด้านการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประชาคมโลก โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงความสำคัญของ CTBT ต่อไทยและอาเซียน เนื่องจากหลักการของ CTBT สอดคล้องกับเป้าหมายสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) ของอาเซียน ซึ่งดำเนินมากว่า ๒๐ ปี 
          อนึ่ง ไทยได้ลงนาม CTBT เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ และได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้สามารถให้สัตยาบัน CTBT ได้ ได้แก่ (๑) การแก้ไขพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ให้ครอบคลุมพันธกรณีภายใต้ CTBT อย่างครบถ้วน ซึ่งปัจจุบัน พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ และ (๒) การจัดทำพระราชบัญญัติคุ้มครอง การดำเนินงานของ CTBTO ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ