รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม Bilateral Consultations ไทย - ตูนิเซีย ครั้งที่ ๑ ณ กรุงตูนิส สาธารณรัฐตูนิเซีย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม Bilateral Consultations ไทย - ตูนิเซีย ครั้งที่ ๑ ณ กรุงตูนิส สาธารณรัฐตูนิเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,448 view
          เมื่อวันที่ ๒๐ – ๒๑ กันยายน ๒๕๖๑ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสาธารณรัฐตูนิเซีย ตามคำเชิญของนาย Sabri Bachtobji รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศตูนิเซีย และได้เป็นประธานร่วมการประชุม Bilateral Consultations ไทย - ตูนิเซีย ครั้งที่ ๑ ณ กรุงตูนิส รวมทั้งได้พบหารือกับนาย Hatem Ferjani รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศตูนิเซียด้านการทูตเศรษฐกิจ และเข้าเยี่ยมคารวะนาย Khemaies Jhinaoui รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตูนิเซีย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
          ๑. ด้านการค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้แต่ละประเทศเป็นประตูเชื่อมไปสู่ภูมิภาคของแต่ละฝ่าย โดยตูนิเซียมีความตกลงการค้าเสรีกับยุโรป รวมทั้งเป็นสมาชิกกรอบการค้าเสรีกับประเทศอาหรับและแอฟริกาในองค์การ Greater Arab Free Trade Area (GAFTA) และ Common Market for Eastern and Southern Africa (COMESA) โดยไทยจะศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ตูนิเซียเป็น logistics hub หรือ regional warehouse
              ฝ่ายตูนิเซียได้เสนอให้มีการจัดตั้งสภาธุรกิจระหว่างไทยกับตูนิเซีย เพื่อสนับสนุนบทบาทภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายให้มากขึ้น รวมทั้งเสนอให้จัดทำ Preferential Trade Agreement (PTA) ระหว่างกัน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า อาจพิจารณาจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (Joint Trade Commission - JTC) ไทย – ตูนิเซีย ครั้งที่ ๓ ที่ประเทศไทย ในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ เพื่อจะได้นำนักธุรกิจเข้าร่วมงาน THAIFEX 2019 และ SACICT Fair ในช่วงดังกล่าว
              นอกจากนี้ ฝ่ายไทยแสดงความสนใจที่จะนำเข้าน้ำมันมะกอกจากตูนิเซียมาใช้ในการผลิตอาหารทะเลกระป๋องในอุตสาหกรรมทูน่าไทยและลงทุนตั้งโรงงานทูน่าในตูนิเซีย รวมทั้งจะแจ้งบริษัทของไทย อาทิ CPF ให้พิจารณาลงทุนในตูนิเซีย เพื่อใช้ตูนิเซียเป็นฐานส่งออกไปสหภาพยุโรป ประเทศในกลุ่มอาหรับและแอฟริกา และในโอกาสนี้ ไทยได้เชิญตูนิเซียลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งเสนอให้จัดการจับคู่ธุรกิจระหว่าง SMEs ของสองประเทศ
          ๒. ด้านการท่องเที่ยว ฝ่ายไทยยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกับตูนิเซีย โดยพร้อมจัดหลักสูตรอบรมตามความประสงค์ของตูนิเซีย และจะเสนอให้บริษัทในเครือดุสิตธานีพิจารณาจัดตั้ง hospitality institute เพื่อเปิดหลักสูตรอบรมแก่ผู้สนใจในตูนิเซีย
          ๓. ด้านการเกษตร ฝ่ายตูนิเซียเสนอร่างความตกลงด้านการเกษตรให้ไทยพิจารณา และขอให้ฝ่ายไทยเพิ่มทุนการศึกษาที่เกี่ยวข้องภายใต้กรมความร่วมมือระหว่างประเทศให้แก่ตูนิเซียมากขึ้น โดยไทยเสนอให้ตูนิเซียพิจารณานำเข้ายางจากไทยมากขึ้น  
          ๔. ด้านการศึกษา ฝ่ายตูนิเซียเสนอร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับอุดมศึกษาให้ไทยพิจารณา และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษาและทุนการศึกษาระหว่างกัน โดยตูนิเซียสนใจแนวทางการทำให้มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานอิสระ (autonomous) โดยฝ่ายไทยแจ้งว่า กำลังจะตั้งกระทรวงอุดมศึกษาและยินดีจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องนี้ 
          ๕. ความร่วมมือด้านการพัฒนา ฝ่ายไทยยินดีจัดการฝึกอบรมในสาขาที่ไทยเชี่ยวชาญตามความประสงค์ของตูนิเซีย นอกจากนี้ ตูนิเซียเสนอให้มีความร่วมมือไตรภาคีกับประเทศในแอฟริกาด้วย
          ๖. ความร่วมมือด้านกงสุล ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทบทวนความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางทูตและราชการ และการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางธรรมดาระหว่างกัน
          ๗. ความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ ฝ่ายตูนิเซียให้ข้อมูลการเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญของตูนิเซีย อาทิ Euro-Mediterranean Association, GAFTA และ COMESA ในขณะที่ไทยพร้อมที่จะเป็นสะพานเชื่อมสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ผ่านกรอบ ACMECS, BIMSTEC และอาเซียน โดยไทยได้ขอรับการสนับสนุนจากตูนิเซียในกรอบ OIC และการสมัคร UNESCO Executive Board ของไทย
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดทำตารางติดตามสถานะความร่วมมือ (Plan of Action) ในการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันต่อไป
          นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนาย Hisham Qareesah อธิการบดีมหาวิทยาลัย Zitouna เพื่อหารือถึงความร่วมมือด้านการศึกษา รวมทั้งได้พบปะนักศึกษาไทยมุสลิม ๒ คน ที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยดังกล่าว โดยไทยสนใจการจัดการศึกษาแบบอิสลามสายกลางของมหาวิทยาลัย Zitouna ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอิสลามที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและมีความร่วมมือกับโรงเรียนอิสลามเอกชนที่กรุงเทพมหานครและมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัย Zitouna เยือนไทยเพื่อหารือเรื่องความร่วมมือด้านการศึกษาให้กับนักศึกษาไทยมุสลิม ซึ่งอธิการบดีฯ ยินดีจะเดินทางมาไทยเพื่อหารือกันต่อไป
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ