โครงการนำผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการไทยจากสาขาและอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์เยือนสาธารณรัฐคิวบา

โครงการนำผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการไทยจากสาขาและอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์เยือนสาธารณรัฐคิวบา

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,029 view

          สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก เขตอาณาครอบคลุมคิวบา ได้นำคณะแพทย์ เภสัชกร และวิศวกรผลิตยา จากกรมการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี/โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เยือนคิวบา เพื่อศึกษาดูงานและแสวงหาความร่วมมือด้านชีวเภสัชภัณฑ์และการทดลองทางคลินิก โดยคณะได้เข้าพบหารือกับสถาบันวิจัยและบริษัทส่งออกชีวเภสัชภัณฑ์ ได้แก่ ศูนย์ภูมิคุ้มกันวิทยาด้านโมเลกุล (CIM) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (CIGB) สถาบันวัคซีนฟินเลย์ (IFV) และศูนย์ Biopreparation (BIOCEN), holding company ของสถาบันวิจัยและบริษัทส่งออกดังกล่าว ได้แก่ BioCubaFarma หน่วยงานกำกับดูแลยาและเครื่องมือการแพทย์ (CECMED) ศูนย์ประสานงานด้านการทดลองทางคลินิก (CENCEC) และโรงพยาบาลและสถาบันที่ทำการทดลองทางคลินิก ได้แก่ รพ. Hermanos Ameijeiras และสถาบันชีววิทยารังสีและเนื้องอกวิทยา (INOR) ของคิวบา

           คิวบามีความโดดเด่นในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาธารณสุข และการผลิตเภสัชภัณฑ์ โดยเฉพาะการผลิตชีวเภสัชภัณฑ์ด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ ได้รับการยอมรับจากองค์การ UNESCO ว่า เป็นประเทศที่มีอัตราการตายของเด็กทารกต่ำที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน และจากองค์การ WHO ว่า มีระบบสาธารณสุขที่เป็นตัวอย่างแก่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศแรกในโลกที่กำจัดการติดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก มีการพัฒนาวัคซีนต้านโรคมะเร็งถึง ๔ ชนิด และเป็นประเทศที่ส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปช่วยเหลือประเทศแอฟริกาเมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลามากที่สุดในโลกด้วย

          ในส่วนของชีวเภสัชภัณฑ์ รัฐบาลคิวบาได้รวมกลุ่มสถาบันวิจัยและบริษัทส่งออกยาเทคโนโลยีชีวภาพและเครื่องมือการแพทย์ เช่น CIM, CIGB, IFV และ BIOCEN ข้างต้นไว้ด้วยกันภายใต้ชื่อ BioCubaFarma โดยขณะนี้  BioCubaFarma มีผลิตภัณฑ์ที่ทำการตลาดได้แล้วใน ๔๓ ประเทศ ร่วมลงทุนกับ ๙ ประเทศ รวมถึงไทย (บริษัท Abinis ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง CIM กับบริษัท Siam Bioscience ของไทย) มีผลิตภัณฑ์ยาที่ได้รับการรับรองคุณภาพจาก WHO ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไข้สมองอักเสบ และโรคไข้หวัดใหญ่ และมียาที่ผลิตได้เองที่น่าสนใจ ซึ่งไทยยังไม่สามารถผลิตได้ เช่น HEBERPROT-P ซึ่งเป็นวัคซีนรักษา (therapeutic vaccine) แผลเปื่อยบริเวณเท้าจากโรคเบาหวานและช่วยลดความเสี่ยงจากการสูญเสียขาได้ Heberprovac วัคซีนรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก คิดค้นโดย CIGB และ CIMAvax-EGF วัคซีนสำหรับรักษาโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก (NSCLC) ระยะรุนแรง ซึ่งเป็นวัคซีนรักษาโรคมะเร็งตัวแรกของโลกที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง คิดค้นโดย CIM เป็นต้น

          นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างจัดตั้ง National Clinical Trials Coordinating Center ตามแผนปฏิบัติการภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับคิวบาว่าด้วยความร่วมมือในสาขาสาธารณสุขและการวิจัยทางการแพทย์ คณะจึงได้ใช้โอกาสนี้ศึกษาระบบวิจัยและการทดลองทางคลินิกของคิวบาด้วย

          การดำเนินโครงการข้างต้นเป็นการดำเนินตามนโยบาย “ไทยแลนด์ ๔.๐” ของรัฐบาล ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ การวิจัยและพัฒนาร่วมกันในการพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันโรคและยารักษาโรคที่ไทยต้องการระหว่างไทยกับคิวบา อันจะนำไปสู่การลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้ากลุ่มยาดังกล่าวจากต่างประเทศของไทยและการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยในไทย
 

(หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันวิจัย/บริษัทส่งออกชีวเภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของคิวบาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตฯ ที่ www.thailatinamerica.net/mexico ในส่วนของมุมคนไทย)

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ