ภาคประชาสังคมและภาครัฐร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภาคประชาสังคมและภาครัฐร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,407 view
เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๑ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศและผู้ประสานงานหลักด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมคณะทำงานร่วมภาคประชาสังคมและภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ ๓/๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมสัญญาธรรมศักดิ์ ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) และผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมจำนวน ๕๕ คน
 
ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๑๘ (High-level Political Forum on Sustainable Development – HLPF) ทั้งในส่วนสาระสำคัญของการประชุม และการจัดกิจกรรมคู่ขนานที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพหลักและร่วมสนับสนุน เช่น กิจกรรมคู่ขนานหัวข้อ ‘CSOs in VNR Process’ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับ East-West Management Institute จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการดำเนินงานตาม SDGs และการจัดทำรายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ระดับชาติ โดยสมัครใจ (Voluntary National Review – VNR) ทั้งนี้ ปี ๒๕๖๒ จะเป็นปีที่สำคัญสำหรับ SDGs เพราะจะมีการประชุม HLPF ๒ ครั้ง ได้แก่ ในระดับรัฐมนตรี ภายใต้ ECOSOC (ช่วงเดือนกรกฎาคม) และในระดับผู้นำ ภายใต้ UNGA (ช่วงเดือนกันยายน) ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า การร่วมงานระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เป็นรูปธรรมสามารถช่วยสนับสนุนการรายงาน VNR ของไทยในปี ๒๕๖๒ ได้
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ ซึ่งมีผลลัพธ์ที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ การจัดลำดับ SDG index 2018 และการจัดกลุ่มจังหวัดในประเทศไทยด้านความพร้อมในการขับเคลื่อน SDGs ซึ่งภาคประชาสังคมสามารถมีส่วนสนับสนุนการดำเนินงานให้ลำดับของไทยใน SDG Index ดีขึ้นได้ และยังสามารถช่วยจังหวัดต่าง ๆ ในการขับเคลื่อน SDGs ได้ 
 
เวทีนี้เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมอภิปรายประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเปิดกว้าง เช่น เมืองและพื้นที่สาธารณะ การขับเคลื่อน SDGs ในระดับท้องถิ่นซึ่งต้องเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของท้องถิ่น บทบาทของอาสาสมัครในการพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาที่ยั่งยืนกับการลงทุนและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น EEC ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิสตรีซึ่งภาคประชาสังคมเห็นว่ามีแนวโน้มทางลบ พื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดเห็นเพื่อให้สามารถมีบทบาทขับเคลื่อน SDGs ได้เต็มที่ 
 
ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า การส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้ขับเคลื่อนหลักเป้าหมายที่ ๑๗ เรื่องหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และประธานคณะทำงานจัดทำรายงาน VNR ของไทย จึงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ และภาคประชาสังคมมุ่งหวังให้หน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าภาพเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายอื่น ๆ เปิดเวทีหารือกับภาคประชาสังคมเช่นนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ