การจัดงานประกาศความสำเร็จในการปรับลดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดในประเทศไทยและการปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติงานทุ่นระเบิดแห่งชาติ

การจัดงานประกาศความสำเร็จในการปรับลดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดในประเทศไทยและการปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติงานทุ่นระเบิดแห่งชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,598 view

                   เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) กองบัญชาการกองทัพไทย ได้จัดงานประกาศความสำเร็จในการปรับลดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดในประเทศไทยและการปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติงานทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Briefing on Thailand’s Progress in Releasing Landmine Contaminated Areas and Developments on the National Mine Action Standards) ณ วิเทศสโมสรส่วน 3 กระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา โดยมีนายดำรง ใคร่ครวญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และพลเอก ชัยชนะ นาคเกิด รองเสนาธิการทหาร เป็นประธานในพิธี

                   งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อนำเสนอพัฒนาการในการปรับลดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดและปรับปรุงการทำงานให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลของไทยในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Mine Ban Convention) ซึ่งในงานฯ ศทช. ได้แจ้งความสำเร็จล่าสุดในการปรับลดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิด โดยประกาศปลดปล่อยจังหวัดอุตรดิตถ์ ตาก และยะลา จากการปนเปื้อนของทุ่นระเบิด ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ ๗๐ คน ประกอบด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ศทช. ผู้แทนจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และติมอร์-เลสเต ประจำประเทศไทยไทย ในฐานะประเทศที่มีความร่วมมือกับ ศทช. ภาคประชาสังคม ได้แก่ องค์การความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (NPA) และสมาคมผู้เก็บกู้ระเบิดพลเรือนไทย (TDA) และสื่อมวลชน

                   รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงการดำเนินการของไทยในกรอบอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์และความร่วมมืออันเหนียวแน่นของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่ได้ร่วมมือกันในเรื่องนี้เป็นอย่างดีตลอดมา โดยรองเสนาธิการทหารได้รายงานพัฒนาการเชิงบวกของไทยในการปลดปล่อยพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิด และแสดงความมั่นใจว่า การปรับมาตรฐานการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นของ ศทช. จะทำให้ไทยปราศจากทุ่นระเบิดภายในปี 2566

                   นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานได้ชมนิทรรศการของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ มาตรฐานการปฏิบัติงานทุ่นระเบิดแห่งชาติที่ปรับปรุงใหม่ นิทรรศการกระบวนการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของ ศทช. NPA และ TDA รวมทั้งนิทรรศการของกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เกี่ยวกับระบบช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกรณีของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ไทยมีบทบาทที่โดดเด่น โดยเฉพาะการเสริมสร้างรายได้ให้ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดด้วยการสนับสนุนการผลิตสินค้าหารายได้ เช่น กระเป๋า เสื้อยืด ดอกไม้ประดับ เป็นต้น

                   งานดังกล่าวเป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทและความมุ่งมั่นของไทยในเวทีการลดอาวุธระหว่างประเทศ และความตั้งใจของไทยที่จะประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายของทุ่นระเบิดและทำให้เข้าถึงประชาชนง่ายขึ้น

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ