เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๑ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานจัดการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) เป็นครั้งแรก ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภาคประมงไทยให้ปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงผิดกฎหมายตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศ
คณะกรรมการแห่งชาติชุดนี้จัดตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๑ เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาการประมงของไทยให้ปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมง IUU รวมถึงการป้องกันการนำเข้าวัตถุดิบที่มาจากการประมง IUU มาผลิตและแปรรูปในไทย กำหนดแผนงานใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทยเพื่อให้ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าประมงปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงกำกับดูแลหรือดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติตามนโยบายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมา ไทยได้มีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาประมง IUU จนก้าวหน้าในหลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำและสินค้าประมง โดยในส่วนของสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย ไทยพัฒนากลไกการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เรือประมงไทยทำการประมง IUU และนำสัตว์น้ำ IUU มาขึ้นท่าที่ไทย มีการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อประสิทธิภาพในการตรวจสอบ และระบบอิเล็กทรอนิกส์ตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำที่จับจากเรือประมงไทย (Thai Flagged Catch Certification System) ซึ่งจะนำไปสู่การออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) สำหรับการส่งออกต่อไป
ในส่วนของสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากต่างประเทศ ไทยมีระบบการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประมงที่ขนส่งมาทางเรือประมงต่างชาติ ซึ่งไทยได้ดำเนินการในฐานะภาคีความตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า เพื่อตรวจสอบและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศอื่น ๆ ให้แน่ใจว่าสัตว์น้ำที่มาขึ้นท่าที่ไทยไม่ได้มาจากการทำประมง IUU และมีระบบการตรวจสอบสินค้าประมงที่ขนส่งมาทางบก ตู้คอนเทนเนอร์ และทางอากาศ เพื่อควบคุมการนำเข้าจากทุกช่องทาง การตรวจสอบที่โรงงานแปรรูป รวมทั้งการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำนำเข้า (PSM linked and Processing Statement System – PPS) ซึ่งควบคุมตั้งแต่การตรวจสอบเรือประมง การอนุญาตให้นำเข้า การขนถ่ายไปยังโรงงานแปรรูป การแปรรูปในโรงงาน และการออกใบรับรองกำกับสินค้าส่งออก (Processing Statement) เพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม
แม้ว่าในปัจจุบัน ไทยจะได้จัดวางระบบป้องกันสัตว์น้ำและสินค้าประมงที่มาจากการประมง IUU เข้าสู่กระบวนการผลิตของไทยไว้พร้อมแล้ว แต่ไทยจะยังเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานต่อไป ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการแห่งชาติชุดนี้ เพื่อให้ประเทศไทยได้บรรลุการเป็นประเทศปลอด IUU โดยแท้จริง