รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมงานเสวนาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตและการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๑

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมงานเสวนาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตและการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ ๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 1,395 view
เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๑ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมงานเสวนาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตและการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Production Capacity and Investment Cooperation Forum) ครั้งที่ ๑ ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของจีนและประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม เข้าร่วมกว่า ๓๐๐ คน
 
นายนิ่ง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission - NDRC) และนายหลาน เทียนลี่ ประธานสภาที่ปรึกษา เขตปกครองตนเองกวางซีจ้วง เป็นผู้กล่าวเปิดงาน โดยนายนิ่งฯ ย้ำถึงความมุ่งมั่นของจีนที่จะร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพในการผลิตและการลงทุนกับประเทศลุ่มน้ำโขง และยินดีที่ประเทศสมาชิก Mekong Lancang Cooperation (MLC) อยู่ระหว่างการหารือกันเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ ระยะ ๓ ปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในสาขาดังกล่าว รวมถึงข้อเสนอการจัดตั้งกองทุน MLC Production Capacity Fund โดยจีนประสงค์ให้เป็นลักษณะของความร่วมมือใต้ - ใต้ บนพื้นฐานของผลประโยชน์และอนาคตร่วมกัน ผ่านการส่งเสริมกลไกตลาด การสร้างโอกาสการค้าและการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการยกระดับศักยภาพของภาคผลิตและอุตสาหกรรมของจีนและประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อให้สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก นอกจากนี้ นายหลานฯ กล่าวถึงความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับประเทศลุ่มน้ำโขงและอาเซียน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเน้นย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่จะส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพในการผลิต ความเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนภาคเอกชนและความสัมพันธ์ระดับประชาชนกับประเทศลุ่มน้ำโขง
 
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวปาฐกถา โดยเสนอให้มีการดำเนินการความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพในการผลิตของ MLC ที่สอดคล้องและดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน (hand-in-hand) กับแผนแม่บท ACMECS ซึ่งผู้นำ ACMECS ได้รับรองในการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘ ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ โดยแผนแม่บทฯ เน้นการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติทั้งด้านคมนาคมขนส่ง พลังงานและดิจิทัล รวมทั้งความเชื่อมโยงด้านกฏระเบียบ อนึ่ง ไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ได้มีสารแสดงความยินดีต่อไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ พร้อมแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิก ACMECS ในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นอกจากนี้ ในระหว่างการเยือนไทยของนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน พร้อมคณะนักธุรกิจเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายหวังฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว ในการนี้ จึงขอเน้นย้ำข้อเสนอให้จีนพิจารณาใช้แผนแม่บท ACMECS ในเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ เป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการในการส่งเสริมศักยภาพในการผลิตภายใต้กรอบความร่วมมือ MLC เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมของจีนกับภาคอุตสาหกรรมของประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างไร้รอยต่อ ส่งผลให้อนุภูมิภาคเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาคและของโลกได้ต่อไป
 
ผู้แทนระดับรัฐมนตรี/ผู้แทนระดับสูงของกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม กล่าวภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุน รวมทั้งนำเสนอโครงการที่มีศักยภาพในประเทศของตน และแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือ MLC รวมทั้งสาขาความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิต โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนา SME และ startup และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรับมือกับประเด็นท้าท้ายต่าง ๆ และนำมาซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาค
 
ในช่วงที่สองของงานเสวนา ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐจากจีนและประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง อาทิ ศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศของ NDRC ธนาคารพาณิชย์อุตสาหกรรมจีน สภาส่งเสริมการลงทุนของกัมพูชา กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของ สปป.ลาว รวมทั้งผู้บริหารบริษัทของจีน เช่น บริษัท China General Technology, China Southern Power ได้กล่าวแนะนำองค์กรและบริษัทของตน รวมทั้งลู่ทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยในส่วนของไทย ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้นำเสนอโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) และภาพรวมสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนต่างชาติ และลู่ทางที่ประเทศสมาชิก MLC สามารถเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเป้าหมาย (s-curve industries) 
 
ประเทศจีนได้จัดงานเสวนานี้ในช่วงการจัดงาน China - ASEAN Expo (CAEXPO) ที่นครหนานหนิง ซึ่งมีผู้แทนระดับสูงภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและการเงินของสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ งานเสวนาดังกล่าวนับเป็นการดำเนินการตามที่จีนได้ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการระยะ ๕ ปี ของ MLC ในสาขาความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิต ซึ่งนอกจากจะเป็นเวทีให้ภาครัฐนำเสนอนโยบายในการยกระดับความร่วมมือด้านศักยภาพการผลิตและอุตสาหกรรม และการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก MLC เพื่อนำพาประเทศเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลกแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนจีนได้นำเสนอเทคโนโลยีและบริการให้แก่ผู้เข้าร่วมด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ