เอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา ในฐานะประธานคณะกรรมการอาเซียนในกรุงลิมา (ASEAN Committee in LIma - ACL) กล่าวเปิดการบรรยายเกี่ยวกับ ASEAN ที่สถาบันการทูตเปรู (Academia Diplomática del Perú)

เอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา ในฐานะประธานคณะกรรมการอาเซียนในกรุงลิมา (ASEAN Committee in LIma - ACL) กล่าวเปิดการบรรยายเกี่ยวกับ ASEAN ที่สถาบันการทูตเปรู (Academia Diplomática del Perú)

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 859 view

          เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๘.๐๐​ น. นางเกศณีย์ ผลานุวงษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา ในฐานะประธานคณะกรรมการอาเซียนในกรุงลิมา (ASEAN Committee in Lima - ACL) กล่าวเปิดการบรรยายเกี่ยวกับ ASEAN ที่สถาบันการทูตเปรู (Academia Diplomática del Perú) โดยได้กล่าวถึงความเป็นมาของอาเซียนที่แม้เริ่มแรกจะเกิดจากการรวมตัวด้วยเหตุผลทางการเมืองและความมั่นคงในการร่วมกันต่อต้านภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น แต่ในปัจจุบันจุดมุ่งหมายของอาเซียนที่เพิ่งฉลองครบรอบ ๕๑ ปีนั้นได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ในปี ค.ศ. ๒๐๑๕ อาเซียนได้ยกระดับการรวมกลุ่มประเทศจัดตั้งเป็น “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community) ภายใต้เสาหลัก ๓​ เสา ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม อาเซียนปรารถนาที่จะเป็นประชาคมที่มีเอกภาพ (cohesive community) มีเศรษฐกิจและสังคมที่ก้าวหน้า เน้นคนเป็นศูนย์กลาง และวางอยู่บนหลักนิติรัฐ นักวิชาการหลายท่านอาจมองว่า ระบอบที่หลากหลาย และการยึดหลักฉันทามติ (Consensus) เป็นข้อจำกัดของอาเซียน แต่ตลอด ๕๑​ ปีที่ผ่านมาอาเซียนได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญในหลายด้านโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการค้าที่เอื้อหนุนซึ่งกันและกันจนส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจมีความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญที่สุดแม้จะมีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางภูมิศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม หรือยังไม่ได้ใช้เงินสกุลเดียวกัน อาเซียนก็ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงที่ยั่งยืนในภูมิภาคตลอดกว่า ๕๐ ปีที่ผ่านมา

          จากนั้น อ. Carlos Aquino Rodríguez อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเอเชียประจำ San Marcos National University ได้เริ่มการบรรยายโดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความแตกต่างกันที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในทุกมิติของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ว่าจะเป็นขนาดพื้นที่ความหลากหลายของประชากรและวัฒนธรรม ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ขนาดเศรษฐกิจรวมไปถึงรายได้ต่อหัว แต่อาเซียนกลับมีระดับการเจริญเติบโตและการพัฒนาตลอดจนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาเซียนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ นโยบายของรัฐที่มุ่งพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ นโยบาย Look East ของนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ของมาเลเซียในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๘๐ การมีแรงงานวัยหนุ่มสาวจำนวนมากและราคาถูก และมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีภายในอาเซียนที่ได้ลดอุปสรรคด้านการค้าระหว่างประเทศอาเซียนและส่งผลให้เกิดการแบ่งงานกันทำ (division of labor) ลดการแข่งขันในการส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันไปยังประเทศนอกกลุ่ม นอกจากนี้ การที่อาเซียนตั้งอยู่ท่ามกลางประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาเซียนต้องทวีระดับการบูรณาการยิ่งขึ้นในด้านความสัมพันธ์กับเปรู แม้จะมีปริมาณและมูลค่าการค้าระหว่างกันไม่มากคิดเป็นประมาณร้อยละ ๑.๕ ของการปริมาณการค้าต่างประเทศของเปรูแต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในบรรดาสมาชิกอาเซียน เปรูนำเข้าสินค้าจากไทยมากที่สุดคิดเป็นมูลค่าประมาณ ๔๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกไปยังฟิลิปปินส์มากที่สุดคิดเป็นมูลค่า ๓๔๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

          นอกจากนี้ ยังมีบริษัทน้ำมันและโทรคมนาคมของเวียดนามได้มาลงทุนในเปรูด้วย ตนเห็นว่า ควรเร่งส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียนซึ่งน่าจะเป็นโอกาสทางการตลาดที่ดี และสามารถใช้เป็นต้นแบบการบูรณาการทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในภูมิภาคสำหรับลาตินอเมริกาได้ด้วยในช่วงถาม-ตอบ ๑.) ต่อประเด็นความร่วมมือระหว่าง Pacific Alliance กับ ASEAN อ. Carlos เห็นว่า ทั้งสองกลุ่มมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะเพิ่มระดับความร่วมมืออยู่แล้วโดยสังเกตได้ว่ามีหลายประเทศอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ ไทย อยู่ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ของ Pacific Alliance และมีกลไกการหารือระหว่างกันในหลายเวที นอกจากนี้ PA ยังสามารถประยุกต์แบบอย่างของ ASEAN ได้โดยเฉพาะหลักการ Non-interference การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในภูมิภาค การลดกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะการส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ๒.) ต่อประเด็น ASEAN Way อ. Carlos เห็นว่า แนวทางดังกล่าวส่งผลดีต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ควรละเลยประเด็นทางการเมืองโดยเฉพาะประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวถึงแนวทางการไม่เผชิญหน้า (non-confrontation) ของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยได้ยกตัวอย่างกรณีผู้อพยพชาวเมียนมาในไทยที่เคยมีมากกว่า ๒,๐๐๐,๐๐๐ คน ด้วยคำนึงถึงแนวทางดังกล่าวและการที่ไทยไม่มีข้ออ้างด้านระยะทาง (luxury of distance) ที่จะทำให้สามารถเพิกเฉยต่อความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอยลงกับประเทศซึ่งมีพรมแดนติดกันนั้น ไทยจึงไม่อาจมีท่าทีเชิงต่อต้านเป็นปริปักษ์หรือโจมตีเมียนมาได้ แต่ได้เลือกที่จะใช้ความอดกลั้น (tolerance) ความอดทน (patience) และมอบความปรารถนาดี (good wills) รวมทั้ง engage เมียนมาอย่างต่อเนื่องในทุกระดับเพื่อให้เกิดบรรยากาศความเชื่อมั่นและมีศรัทธาที่ดีต่อกัน จนนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันในที่สุด

          การบรรยายเกี่ยวกับ ASEAN ที่สถาบันการทูตเปรูดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่จัดโดยคณะกรรมการอาเซียนในกรุงลิมาซึ่งประกอบด้วยสถานเอกอัครราชทูตของ ๓ ประเทศอาเซียนในกรุงลิมา ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยได้เชิญ อ. Carlos Aquino Rodríguez อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเอเชียประจำ San Marcos National University มาบรรยายเกี่ยวกับ ASEAN ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ และ ๒​ ของสถาบันการทูตเปรูจำนวนกว่า ๗๐ คน ในการนี้ นาย Allan Wagner อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเปรูและผู้อำนวยการสถาบันการทูตเปรูได้กล่าวต้อนรับ และมีเอกอัครราชทูตในกรุงลิมา ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศเปรู อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการบรรยายด้วย ในช่วงท้าย สถานเอกอัครราชทูตอาเซียนในกรุงลิมาได้จัดอาหารประจำชาติให้ผู้เข้าร่วมรับประทานอีกด้วย กิจกรรมดังกล่าวประสบความสำเร็จในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนในบรรดาอนาคตนักการทูตเปรูและผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงถาม-ตอบที่ผู้เข้าร่วมต่างสนใจแสดงข้อคิดเห็นและสอบถามเอกอัครราชทูตฯ และผู้บรรยายเกี่ยวกับอาเซียนเป็นจำนวนมาก

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ