วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๑ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และสำนักงานสหประชาชาติ
เพื่อความร่วมมือใต้ - ใต้ (United Nations Office for South-South Cooperation - UNOSSC) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เป็นเจ้าภาพจัดงานวันสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้ - ใต้ (United Nations Day for South-South Cooperation) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอผลสำเร็จและเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (ความร่วมมือใต้ - ใต้) ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยในงานมีเอกอัครราชทูตและผู้แทนคณะทูตประจำประเทศไทย องค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชนเข้าร่วมประมาณ ๑๐๐ คน
นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดงานและย้ำความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสนับสนุนความร่วมมือใต้ - ใต้ พร้อมนี้ นาย Jorge Chediek ผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยความร่วมมือใต้ - ใต้ และผู้อำนวยการ UNOSSC ได้มีสารแสดงความยินดีผ่านวิดีทัศน์เนื่องในโอกาสวันสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้ - ใต้ โดยกล่าวว่าภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นต้นกำเนิดและตัวอย่างสำหรับความร่วมมือใต้ – ใต้ และเน้นย้ำความสำคัญของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความร่วมมือระหว่างประเทศ ต่อวาระการพัฒนาระดับโลก รวมถึงความท้าทายและโอกาสของความร่วมมือใต้ - ใต้ในอนาคต
กิจกรรมในงานประกอบด้วย การนำเสนอวีดิทัศน์และคำกล่าวเกี่ยวกับความสำเร็จของประเทศและองค์กรในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่มีบทบาทเด่นในการส่งเสริมความร่วมมือใต้ - ใต้และไตรภาคีในภูมิภาค โดยเอกอัครราชทูตและผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ จีน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิจิ อินเดีย และญี่ปุ่น พร้อมด้วย ผู้แทนองค์กรเอกชนต่างประเทศ ได้แก่ Asia Foundation และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศผ่านวีดิทัศน์ ได้แก่ รองเลขาธิการอาเซียน และเลขาธิการเวทีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Development Forum) โดยประเทศและองค์กรดังกล่าวได้รับการยกย่องและชื่นชมจาก UNOSSC สำหรับการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านความร่วมมือใต้ - ใต้อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของไทย อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้นำเสนอบทบาทที่ผ่านมาของไทยในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy - SEP) มาเป็นแนวทางหนึ่งในการดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศและองค์กรต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ตามข้อริเริ่ม SEP for SDGs Partnership อย่างต่อเนื่อง
การจัดงานเฉลิมฉลองดังกล่าวในประเทศไทยถือเป็นกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมความร่วมมือใต้ - ใต้ และไตรภาคี ภายหลังจากที่ประเทศไทย ESCAP และ UNOSSC ประสบความสำเร็จจากการร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือใต้ - ใต้ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Regional Consultation on South-South Cooperation in Asia and the Pacific: Towards the Buenos Aires Plan of Action 40th Anniversary) และการประชุม Asia-Pacific Forum for South-South and Triangular Cooperation เมื่อวันที่ ๒๗ - ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ตลอดจนเป็นโอกาสส่งเสริมแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามนโยบาย SEP for SDGs Partnership และเป็นการสานต่อความสำเร็จจากการเป็นประธานกลุ่ม ๗๗ วาระปี พ.ศ. ๒๕๕๙ และสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทย ในปี ๒๕๖๒ ซึ่งมีวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นนโยบายนำในการดำเนินงานความร่วมมือดังกล่าว
สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ ๑๒ กันยายน ของทุกปี เป็นวันสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้ - ใต้ ซึ่งตรงกับวันที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติรับรองแผนปฏิบัติการบัวโนสไอเรส (Buenos Aires Plan of Action - BAPA) ในปี ค.ศ. ๑๙๗๘ โดยในปีนี้ วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๑ แผนปฏิบัติการบัวโนสไอเรสครบรอบ ๔๐ ปี (BAPA+40) และเป็นโอกาสสำคัญก่อนที่สหประชาชาติและอาร์เจนตินาจะเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยความร่วมมือใต้ - ใต้ ครั้งที่ ๒ (Second High-level UN Conference on South-South Cooperation) ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ กรุงบัวโนสไอเรส
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **