การประชุมรัฐมนตรีและการประชุมผู้นํากรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สําหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC)

การประชุมรัฐมนตรีและการประชุมผู้นํากรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สําหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC)

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,719 view

         เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๑ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ครั้งที่ ๑๖ ณ กรุงกาฐมาณฑุ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศประเทศสมาชิกได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล และศรีลังกา เพื่อเตรียมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ ๔ ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๓๐ – ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ กรุงกาฐมาณฑุ ภายใต้หัวข้อการประชุม “การมุ่งสู่ความสงบสุข ความมั่งคั่งและยั่งยืนแห่งภูมิภาคอ่าวเบงกอล” (Towards a Peaceful, Prosperous and Sustainable Bay of Bengal Region)

         ที่ประชุมได้หารือถึงผลการดำเนินงานของ BIMSTEC ตั้งแต่การประชุมรัฐมนตรีฯ ครั้งที่ ๑๕ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ และร่วมพิจารณาร่างปฏิญญาผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ผู้นำ BIMSTEC ในครั้งนี้จะกำหนดทิศทางการดำเนินงานในอนาคต และปรับการดำเนินงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน โดยเน้นการดำเนินงานที่ให้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม อาทิ การเร่งจัดตั้งเขตการค้าเสรีและการสร้างความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคทั้งทางบกและทางทะเล และการจัดลำดับความสำคัญของสาขาความร่วมมือที่ปัจจุบันมีอยู่ถึง ๑๔ สาขา ซึ่งที่ประชุมจะใช้เอกสารแนวคิดการจัดลำดับเสาความร่วมมือที่ไทยเสนอในการพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ร่างปฏิญญาฯ ได้เห็นชอบให้สร้างความเข้มแข็งของสำนักเลขาธิการ BIMSTEC โดยการจัดทำกฎบัตร BIMSTEC และสนับสนุนแนวคิดการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา BIMSTEC

         ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวขอบคุณที่ประชุมฯ ที่ยินดีต่อการใช้เอกสารแนวคิดการจัดลำดับสาขาความร่วมมือของไทยในการดำเนินการต่อไป รวมทั้งได้เสนอให้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่จะจัดทำความตกลงต่าง ๆ ที่ได้เริ่มเจรจาไว้แล้วให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งการจัดตั้งเขตการค้าเสรี และการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค

          ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ ๔ ซึ่งผู้นำฯ ร่วมรับรองปฏิญญาผู้นำ ครั้งที่ ๔ และเห็นชอบที่จะสร้างความเจริญในภูมิภาคโดยขจัดความยากจน การสร้างความเชื่อมโยงทั้งด้านคมนาคม ดิจิทัลและพลังงาน การส่งเสริมการค้าการลงทุน การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และการต่อต้านการก่อการร้าย รวมถึงด้านอื่น ๆ อันมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันบทบาทของไทยในการขับเคลื่อน BIMSTEC และเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้ พร้อมแจ้งแนวทางการพัฒนาของไทยตามนโยบายประเทศไทย ๔.๐ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่จะช่วยพัฒนาให้เชื่อมไทยเข้ากับภูมิภาค BIMSTEC และโลก

          ในช่วงการประชุมผู้นำฯ นายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งเน้นประเด็นความมั่นคงทางทะเล ความเชื่อมโยงในภูมิภาคและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการหารือกับนายกรัฐมนตรีเนปาล โดยเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาและการให้ความช่วยเหลือเนปาลเพื่อการฟื้นฟูประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าภายใต้กรอบ BIMSTEC ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงงานได้ลงนามร่วมกับรัฐมนตรีประเทศสมาชิก BIMSTEC ซึ่งจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาคเอเชียใต้ และไทยจะมีบทบาทเป็นตัวเชื่อมกับเครือข่ายพลังงานในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ