ไทยต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้แรงงานต่างด้าวในภาคประมง

ไทยต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้แรงงานต่างด้าวในภาคประมง

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,322 view
รัฐบาลไทยพร้อมเปิดรับแรงงานต่างด้าวเข้าสู่การทำงานในภาคประมงเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมง ซึ่งยังมีความต้องการแรงงานกว่า ๕๓,๐๐๐ คน โดยกระทรวงแรงงานได้กำหนดมาตรการเปิดรับแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมใน ๓ แนวทาง ได้แก่ (๑) การต่ออายุแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามมาตรา ๘๓ ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๑ และผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว โดยหน่วยงานของไทยจะต่ออายุใบอนุญาตออกไปอีกสองปีจนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ และจะจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในจังหวัดชายทะเล ๒๒ จังหวัด เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้ามารายงานตัว (๒) การอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารที่ยังไม่หมดอายุ เช่น หนังสือเดินทาง และหนังสือเดินทางชั่วคราว เข้ามารายงานตัวเพื่อเป็นแรงงานในภาคประมงตามมาตรา ๘๓ ดังกล่าว โดยขอให้ดำเนินการภายในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ และ (๓) การนำเข้าแรงงานตามบันทึกความเข้าใจแบบรัฐต่อรัฐ (MOU) ซึ่งในเบื้องต้น รัฐบาลเมียนมาได้ตอบรับที่จะจัดหาแรงงานจำนวน ๔๒,๐๐๐ คน เข้าสู่ภาคประมงไทยแล้วภายในเดือนพฤศจิกายนศกนี้
 
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประมงไทย และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในภาคประมงจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยผ่านมาตรการที่รัฐบาลกำหนดไว้เท่านั้น เพื่อให้แรงงานดังกล่าวได้รับการคุ้มครองสิทธิภายใต้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยขณะนี้ประเทศไทยสามารถนำเข้าแรงงานผ่านช่องทาง MOU เพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ เท่า
 
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้ปรับปรุงกฎหมายด้านแรงงานหลายฉบับเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล และระเบียบว่าด้วยการตรวจแรงงานและการดำเนินคดีอาญาผู้กระทำความผิดตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในภาคประมง มีการเพิ่มมาตรการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลผ่านการสแกนหน้าและม่านตา การอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิของแรงงาน การขยายช่องทางร้องทุกข์และการจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว รวมทั้งการเพิ่มความเข้มแข็งของการตรวจสอบแรงงานในภาคประมง โดยการจัดทำคู่มือการตรวจแรงงานและจัดฝึกอบรมพนักงานตรวจแรงงานให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานในภาคประมงทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าวจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และเป็นบุคลากรสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ประมงไทยให้ยั่งยืนโดยแท้จริง