การอภิปรายหัวข้อความก้าวหน้าในการอนุวัติหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ภายใต้ Lecture Series เนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

การอภิปรายหัวข้อความก้าวหน้าในการอนุวัติหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ภายใต้ Lecture Series เนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,268 view
                เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และองค์กรนักศึกษากฎหมายแห่งเอเชีย จัดการอภิปรายหัวข้อ “ความก้าวหน้าในการอนุวัติหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” โดย ศ. กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร. เสรี นนทสูติ ผู้แทนไทยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ ดร. เดชา พิมพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้ชุดการบรรยาย (Lecture Series) เนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ: สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
 
                ในโอกาสนี้ นายพิชิต บุญสุด รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยเน้นความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีของไทยและการนำมาตรฐานระหว่างประเทศมาปรับปรุงการดำเนินงานในไทย โดยมีนางปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และนางสาว Deirdre Boyd ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมกล่าวเปิดงาน
 
                ในการอภิปราย วิทยากรได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นท้าทายระหว่างการเคารพสิทธิมนุษยชนและการสร้างผลกำไรทางธุรกิจ โดยเน้นความคืบหน้าการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน หลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ตลอดจนมาตรฐานระหว่างประเทศอื่น ๆ อาทิ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน OECD Guidelines for Multinational Enterprises และ ISO 26000 นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับบทบาทของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและแนวทางความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับโลก
 
                ผู้สนใจสามารถรับชมภาพกิจกรรมได้ที่ Facebook: Rights Now https://facebook.com/media/set/?set=a.1928373903875500 และคลิปวีดีโอการอภิปรายที่ https://youtu.be/s9h4-LpilPA 
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ