รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,423 view

          เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง (จาก ๒๒ ประเทศ) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ โรงแรมเชอราตัน กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน ภายใต้หัวข้อ “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้วยการต่างประเทศที่มีพลวัตและเอกภาพท่ามกลางความท้าทายของการเมืองและเศรษฐกิจโลก” ซึ่งเป็นการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่สองภูมิภาคแรกใน ๙ ภูมิภาคยุทธศาสตร์ของกระทรวงการต่างประเทศที่กำลังทยอยจัดขึ้นในห้วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ๒๕๖๑

          โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบนโยบายในการประชุมดังกล่าว โดยขอให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลกร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี รวมทั้งนโยบายสำคัญของรัฐบาล อาทิ ประเทศไทย ๔.๐ การพัฒนา EEC ฯลฯ ในประเทศที่รับผิดชอบ โดยคำนึงถึงโอกาสและความท้าทายในแต่ละภูมิภาคในการส่งเสริมและรักษาผลประโยชน์ของไทย ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากบทบาทไทยในอนุภูมิภาค เช่น ACMECS และในภูมิภาค เช่น การเป็นประธานอาเซียน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเป้าหมายในภูมิภาคต่าง ๆ เป็นต้น

          นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการทำงานตามแนวทางการทูตประชารัฐ หรือ Public-Private-People Partnership (PPPP) ในการขับเคลื่อนการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ต้องร่วมมือและทำงานร่วมกับทีมประเทศไทยเอกชนไทย และกลุ่มคนไทยในประเทศที่รับผิดชอบอย่างมีบูรณาการ และมีการติดตามการขับเคลื่อน (follow up/follow through) แผนงานและโครงการให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมต่อไป เพื่อให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่สามารถทำหน้าที่ “เชื่อมไทยสู่โลก เชื่อมโลกสู่ไทย” ในการส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยและประชาชนไทยในต่างประเทศ

          เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำภูมิภาคยุโรปเห็นพ้องที่จะร่วมกันดำเนินการเชิงรุกโดยอาศัยโอกาสที่ยุโรปกำลังต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์กับไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและประเทศในยุโรปทั้งในมิติเศรษฐกิจ ความมั่นคง และมิติอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การลงทุนใน EEC และการสร้างความเชื่อมโยงไร้รอยต่อ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ