นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation – BIMSTEC) ครั้งที่ ๑๖ ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๑ เพื่อเป็นการเตรียมการก่อนการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ ๔ โดยจะมีการหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม และแผนงานเพื่อส่งเสริมและขยายความเชื่อมโยงภายในและภายนอก BIMSTEC รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญของสาขาความร่วมมือ การปรับโครงสร้างสำนักเลขาธิการ BIMSTEC รวมถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา BIMSTEC
ในวันที่ ๓๐ – ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเข้าร่วมในคณะของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC ครั้งที่ ๔
การประชุมผู้นำครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การมุ่งสู่ความสงบสุข ความมั่งคั่งและยั่งยืนแห่งอ่าวเบงกอล” (Towards a Peaceful, Prosperous and Sustainable Bay of Bengal Region) โดยผู้นำจะให้การรับรองปฏิญญาผู้นำ BIMSTEC ซึ่งจะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำต่อพันธกรณีในกรอบความร่วมมือ BIMSTEC โดยมีสาระสำคัญคือการกำหนดทิศทางการทำงานของกรอบความร่วมมือในอนาคต สนองตอบความเปลี่ยนแปลง ทางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลกในปัจจุบัน โดยเน้นการดำเนินงานที่ให้ ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม อาทิ การสร้างความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค การส่งเสริมการค้าการลงทุน ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ความร่วมมือด้านความมั่นคงและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน เพื่อผลประโยชน์แก่ประชาชนในประเทศสมาชิก BIMSTEC พร้อมนี้ ผู้นำจะร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามร่างความตกลง เช่น ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าภายใต้กรอบ BIMSTEC (Memorandum of Understanding for the Establishment of the BIMSTEC Grid Interconnection)
กรอบความร่วมมือ BIMSTEC จัดตั้งภายใต้การผลักดันของไทย เมื่อปี ๒๕๔๐ นับเป็นการเชื่อมโยงนโยบายมองตะวันตกของไทยและนโยบายมองตะวันออกของกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เพื่อการเจริญเติบโตของภูมิภาค BIMSTEC มีสมาชิก ๗ ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย