กิจกรรม TICA Connect ครั้งที่ ๔ : ๕ ทศวรรษหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติเพื่อการบรรลุเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน “Five Decades of Thailand and UNFPA Partnership: Advancing towards Sustainable Development Goals (SDGs)”

กิจกรรม TICA Connect ครั้งที่ ๔ : ๕ ทศวรรษหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติเพื่อการบรรลุเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน “Five Decades of Thailand and UNFPA Partnership: Advancing towards Sustainable Development Goals (SDGs)”

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 1,417 view

          วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๑ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency: TICA) กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Population Fund: UNFPA Thailand) จัดกิจกรรม TICA Connect ครั้งที่ ๔: “Five Decades of Thailand and UNFPA Partnership: Advancing towards Sustainable Development Goals (SDGs)” ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำเสนอผลสำเร็จของความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติด้านประชากรและการพัฒนา โดยมีคณะทูตานุทูต ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต ผู้แทนหน่วยงานประเทศคู่ร่วมมือ (counterpart) สถาบันการศึกษา รวมทั้งหน่วยงาน/องค์กรคู่ร่วมมือฝ่ายไทยและต่างประเทศที่มีสำนักงานในประเทศไทยเข้าร่วมงาน ประมาณ ๒๐๐ คน

          นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงานดังกล่าว โดยย้ำว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก โดยตระหนักถึงบทบาทและคุโณปการที่ผ่านมาของ UNFPA ต่อการพัฒนาประชากรของไทย โดยเฉพาะด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ ๑๗ เพื่อนำพาไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เหลืออีก ๑๖ ข้อร่วมกันภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยเฉพาะเป้าหมายข้อที่ ๓ การสร้างหลักประกันการมีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย

          โดยที่ประเทศไทยเป็นคู่ร่วมมือที่แข็งขันกับ UNFPA ในการส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาตามวาระการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Development – ICPD) มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ผ่านการนำความรู้และประสบการณ์ของไทย
ในการสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ตามหลักสากล เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ผ่านกรอบความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคี และเพื่อเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือในการส่งเสริมการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
(SEP for SDGs Partnership) โดยเฉพาะสาขาสาธารณสุขและอื่น ๆ ให้กับประเทศต่าง ๆ ร่วมกันโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

          กิจกรรมในงานประกอบด้วย

          ๑. การเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “จากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต พัฒนาการของไทยจากการเป็นผู้รับสู่การเป็นคู่ร่วมมือหุ้นส่วนกับ UNFPA สู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่เกี่ยวกับประเด็นประชากรและการพัฒนา โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ผ่านกรอบความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคี โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่  ๑) นางศศิธร ว่องวีรโชติกิจ รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ๒) นายแพทย์ ดร. สรภพ เกียรติพงษ์สาร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ๓) นายแพทย์กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

          ๒. การเปิดตัวเครือข่ายความร่วมมือเพื่อลดสาเหตุการเสียชีวิตของมารดา (UNFPA - Thailand Solution Network on Making Motherhood Safer)

          ๓. การจัดนิทรรศการแสดงผลงาน และตัวอย่างความสำเร็จของการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับ UNFPA เกี่ยวกับอนามัยแม่และเด็ก โดยเครือข่ายความร่วมมือเพื่อลดสาเหตุการเสียชีวิตของมารดา ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  โรงพยาบาลรามาธิบดี สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล

          กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความสำเร็จของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทยผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับ UNFPA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพของสถาบันและทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการให้ความร่วมมือทางวิชาการโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและแนวปฏิบัติที่ดีของไทยเพื่อช่วยลดอัตราการตายของแม่และเด็กในภูฏานและ สปป.ลาว ผ่านความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคี


 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ