การเสวนาเยาวชนเรื่องเยาวชนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน “SDGs สร้างด้วยกัน ตอน สร้าง ใช้ ใส่ใจโลก”

การเสวนาเยาวชนเรื่องเยาวชนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน “SDGs สร้างด้วยกัน ตอน สร้าง ใช้ ใส่ใจโลก”

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,317 view

            กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการเสวนาระดับเยาวชนเรื่องเยาวชนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน “SDGs สร้างด้วยกัน ตอน สร้าง ใช้ ใส่ใจโลก” เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑  ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ และการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ ๑๒ (SDG12) เรื่องการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในกลุ่มเยาวชนไทย ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา ตลอดจนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคม
 

            นายพิชิต บุญสุด รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้กล่าวเปิดงานเสวนา โดยระบุถึงความสำคัญของเยาวชนต่อการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน รวมทั้งได้กล่าวว่า SDG12 เป็นประเด็นที่ใกล้ตัวเยาวชนและเป็นเป้าหมายที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายอื่น ๆ ซึ่งเยาวชนแต่ละคนสามารถมีส่วนร่วมในบริบทของตนเองเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวและเป้าหมายอื่น ๆ ได้

            นาย Juan Santander รองผู้แทนองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของเยาวชนต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยกล่าวว่า การสร้างความตระหนักรู้และการปลูกฝังพฤติกรรมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนให้กับเยาวชนผ่านการศึกษาและนวัตกรรม จะช่วยสนับสนุนการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากเยาวชนเป็นกลุ่มประชากรที่จะเติบโตไปเป็นบุคลากรที่สำคัญของโลกในอนาคต

            ดร. Arab Hoballah หัวหน้าโครงการ SCP Facility จาก SWITCH-Asia และอดีตหัวหน้าฝ่ายการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความสำคัญของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศด้านการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนสู่การบรรลุ SDGs”

โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนและความเชื่อมโยงระหว่าง SDG12 กับเป้าหมายอื่น ๆ พร้อมแสดงความเห็นว่า วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ จะไม่บรรลุผลหากผู้ผลิตและผู้บริโภคยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อีกทั้งจะต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่านระยะหนึ่งก่อนที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะส่งผลให้เห็นเป็นรูปธรรม จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

            นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรผู้ที่ได้นำแนวทางการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนมาปฏิบัติจริง ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ได้แก่ คุณยุทธนา อโนทัยสินทวี ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบนวัตกรรมสีเขียวและการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากขยะ กรรมการผู้จัดการบริษัท สามพิมพ์ (Triple Pim) จำกัด ได้บรรยายเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ upcycle หรือการนำเศษวัสดุเหลือใช้ประเภทต่าง ๆ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ และนางสาวณิชา เวชพานิช นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสมาชิกโครงการ Chula Zero Waste ได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการรณรงค์การจัดการขยะในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยผ่านการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรเพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของนักเรียนและนักศึกษา

            ในช่วงกิจกรรมระดมสมองเกี่ยวกับการจัดการขยะและวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ คุณเปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจ Facebook “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะอย่างถูกต้อง และการลดปริมาณขยะด้วยการลดการบริโภค นำกลับมาใช้ใหม่ และนำไปแปรรูป (reduce, reuse, recycle) ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำว่า การบริโภคอย่างยั่งยืนจะเกิดได้จากการลดปริมาณขยะและควรให้การรีไซเคิลเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากวัสดุที่นำมารีไซเคิลจะมีคุณภาพต่ำลงกว่าผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม ไม่สามารถใช้เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้การเสวนาในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากเยาวชนจำนวนกว่า ๒๕๐ คนทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาโดยเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเยาวชน ทั้งนี้ กรมองค์การระหว่างประเทศได้จัดงานเสวนาในลักษณะนี้มาแล้ว ๒ ครั้ง ได้แก่ (๑) เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ เกี่ยวกับ SDGs ในภาพรวม (SDGs สร้างด้วยกัน) และ (๒) เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๑ เกี่ยวกับ SDG11 เรื่อง เมืองและชุมชนยั่งยืน (SDGs สร้างด้วยกัน ตอน คบเด็กสร้างเมือง)