การประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำประเทศเพื่อนบ้านกับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน หัวข้อ “ความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เมื่อวันที่ ๙ – ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑

การประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำประเทศเพื่อนบ้านกับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน หัวข้อ “ความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เมื่อวันที่ ๙ – ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,243 view
กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงมหาดไทยได้เป็นประธานร่วมในการจัดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำประเทศเพื่อนบ้านกับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนในหัวข้อ “ความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เมื่อวันที่ ๙ – ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ เพื่อให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค มีบทบาทในการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศให้สอดคล้องกับใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี และ “การทูตประชารัฐ”
 
การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกระหว่างสองหน่วยงานที่เน้นประเด็นการพัฒนาชายแดน โดยมีเอกอัครราชทูต/กงสุญใหญ่ ประจำประเทศเพื่อนบ้าน ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา มาเลเซีย และเวียดนาม และผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน ๓๒ จังหวัด รวมทั้งผู้แทนจากส่วนราชการต่าง ๆ จำนวน ๑๙ หน่วยงาน 
 
การประชุมวันแรกเป็นการระดมสมอง เพื่อจัดทำแนวทางความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการต่างประเทศในแต่ละประเทศเพื่อนบ้าน ในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ผ่านความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน 
 
การประชุมวันที่สอง นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้แทนของกลุ่มผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน และนายจักร บุญหลง เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง เป็นผู้แทนของกลุ่มเอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่ประจำประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมกันนำเสนอแนวทางความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวตามรายประเทศแก่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบาย สรุปได้ดังนี้
 
(๑) การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านต้องเป็นการพัฒนาที่เติบโตและเข้มแข็งไปด้วยกันทั้งในระดับทวิภาคี พหุภาคี และไตรภาคี บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจและผลประโยชน์ร่วมกัน
(๒) การพัฒนาจังหวัดชายแดนควรเน้นการขยายความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นด้านการคมนาคม จุดผ่านแดน และกฎระเบียบ รวมถึงการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน และการเสริมสร้างความร่วมมือของภาคเอกชนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน  
(๓) ส่วนราชการต้องยึดถือยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายประชารัฐ และไทยนิยม ยั่งยืน และ 
(๔) ทุกหน่วยงานต้องพัฒนาข้อมูล Big Data โดยเฉพาะข้อมูลในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด
 
การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความสำคัญที่กระทรวงการต่างประเทศให้กับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นองคาพยพ ซึ่งประเด็นยุทธศาสตร์ “Synergy: มีพลัง” เป็นหนึ่งใน ๕ ประเด็นยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทด้านการต่างประเทศ ระยะ ๒๐ ปี ที่มุ่งการขับเคลื่อนการต่างประเทศระหว่างหน่วยราชการไทยอย่างเป็นเอกภาพ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สนับสนุนการให้เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในทั้ง ๖ ภาค เพื่อเป็นกลไกการบูรณาการอย่างถาวรระหว่างทั้งสองกระทรวงและร่วมกันทำหน้าที่ “เชื่อมไทยสู่โลก เชื่อมโลกสู่ไทย และเชื่อมจังหวัดสู่ประเทศเพื่อนบ้านและโลก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ