ไทยเร่งสร้างความตระหนักรู้เรื่องสัญญาจ้างและการจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงทะเลที่ถูกต้อง

ไทยเร่งสร้างความตระหนักรู้เรื่องสัญญาจ้างและการจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงทะเลที่ถูกต้อง

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,312 view
กระทรวงแรงงานได้จัดการประชุมเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อบังคับการทำสัญญาจ้างและการจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงทะเล ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๑ รวมทั้งประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องกำหนดแบบสัญญาจ้างในงานประมงทะเล โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ธนาคารพาณิชย์ สมาคมประมง ผู้ประกอบการประมง และแรงงานประมง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองและประโยชน์ตามสิทธิอย่างแท้จริงตามกฎหมาย
 
การประชุมชี้แจงดังกล่าวจัดขึ้นในเขตจังหวัดชายทะเล ๒๒ จังหวัด โดยได้ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งหมด ๕ ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ ๑ ที่จังหวัดตรัง ครั้งที่ ๒ ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ครั้งที่ ๓ ที่จังหวัดสงขลา ครั้งที่ ๔ ที่จังหวัดเพชรบุรี และครั้งที่ ๕ ที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมด ๙๒๘ คน
 
ทั้งนี้ สาระสำคัญของการชี้แจงคือระเบียบปฏิบัติใหม่ตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงฯ ได้แก่ การกำหนดให้นายจ้างจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดเป็นภาษาไทยและเก็บไว้ ณ สถานที่ทำงานของนายจ้างและลูกจ้างเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งในหนึ่งเดือน ให้นายจ้างกำหนดค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าจ้างรายเดือน โดยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันคูณด้วย ๓๐ วัน ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างผ่านบัญชีธนาคารของลูกจ้าง และรวมถึงให้นายจ้างที่ทำการประมงนอกน่านน้ำไทยต้องมีอุปกรณ์หรือระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมที่รองรับการส่งข้อความได้ไม่ต่ำกว่า ๑ เมกะไบต์ ต่อคนต่อเดือน เพื่อให้ลูกเรือเข้าถึงและใช้ในการติดต่อหรือประสานงานกับเจ้าหน้าที่ หรือครอบครัวได้ตลอดเวลา โดยนายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายดังกล่าว
 
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้ร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation – ILO) ในการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสิทธิของแรงงาน โดยให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน ความปลอดภัยและสุขอนามัย สิทธิในการรวมกลุ่ม และช่องทางในการร้องเรียน การเผยแพร่วิธีการใช้ตู้ถอนเงินอัตโนมัติซึ่งมีการติดตั้งแล้ว ๘๑ ตู้ในบริเวณศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (Port-in Port-out – PIPO) ใน ๒๒ จังหวัดชายทะเล โดยสื่อประชาสัมพันธ์มีทั้งในรูปแบบแผ่นพับ และคลิปวีดีโอซึ่งเข้าถึงได้โดยการสแกนรหัส QR code ที่ปรากฏบนแผ่นพับ ซึ่งมีทั้งในรูปแบบภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาเมียนมา และภาษากัมพูชา เพื่อให้เข้าถึงแรงงานต่างด้าวโดยแท้จริงด้วย
 
กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ PIPO ต่าง ๆ เร่งให้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมกับลูกจ้างและนายจ้างในกิจการประมงในพื้นที่ด้วย และให้พนักงานตรวจแรงงานปฏิบัติตามระเบียบการตรวจแรงงานและการดำเนินคดีอาญาผู้กระทำความผิดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๖๑ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีแนวปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง