วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ส.ค. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ กระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลินร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จัดการเสวนาความร่วมมืออาชีวศึกษาระบบทวิภาคีไทย – เยอรมัน ในหัวข้อ “การยกระดับมาตรฐานอาชีพและการบูรณาการกับภาคเอกชน” (Upgrading Professional Standards and Integrating Private Sector TVET) ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยภายในงานยังมีกิจกรรม TVET Open House และการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายของการประกวดในระดับเยาวชน ในหัวข้อ “อนาคตอาชีวะไทย ก้าวไกลด้วยตัวเรา”
นายดำรง ใคร่ครวญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนา และมีนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ดร. สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกล่าวต้อนรับ และศาสตราจารย์ ดร. ฮูเบิร์ต แอร์เทิล รองประธานสถาบันอาชีวศึกษาและผู้อำนวยการด้านการวิจัย สถาบันการอาชีวศึกษาและการฝึกวิชาชีพ (Federal Institute for Vocational Education and Training - BIBB) ประเทศเยอรมนี เดินทางเข้าร่วมเป็นแขกเกียรติยศและบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Analysing the cost argument: What the data on cost and benefits of work-based training in Germany can tell us” รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขาร่วมบรรยายในหัวข้อการยกระดับการพัฒนากำลังคนและกลไกในการขับเคลื่อนคุณวุฒิวิชาชีพ การบูรณาการระหว่างสถาบันการศึกษากับสถานประกอบการ บทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนต่อการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี และทิศทางต่อนโยบายประเทศไทย ๔.๐ โดยงานเสวนาครั้งนี้ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงานกว่า ๑๗๐ คนจากกระทรวงต่าง ๆ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมวิชาชีพต่างๆ สถาบันอาชีวศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและระดับเทคนิคทั่วประเทศ สถานประกอบการ ภาคเอกชนไทยและเยอรมัน และหน่วยงานเยอรมัน
ผลของการเสวนาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสมรรถนะกำลังคนเสมือนเป็นหัวใจของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งระบุในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และการสร้างเส้นทางอาชีพที่มั่นคงและภาพลักษณ์ที่ดีของอาชีวศึกษา ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มบุคลากรที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและการสร้างชาติในการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและนวัตกรรมอัจฉริยะ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่และกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต (First and New S-Curve) ทั้งหมด ๑๐ กลุ่มคลัสเตอร์ นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงต้นแบบความสำเร็จของเยอรมนีที่มองว่า การฝึกอบรมและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลนั้นเป็นการลงทุนในระยะยาวและให้ผลที่เป็นรูปธรรม ภาคเอกชนต้องเป็นผู้มีบทบาทนำและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นและการบูรณาการของทุกภาคส่วนอย่างแข็งขันส่งผลต่อการพัฒนาระบบอาชีวศึกษาทวิภาคีอย่างยั่งยืน
กิจกรรมอื่น ๆ ภายในงาน ได้แก่ TVET Open House ยังช่วยเสริมสร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายของทุกภาคส่วนและให้ภาพตัวอย่างความสำเร็จของความร่วมมืออย่างไร้รอยต่อระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการของไทยและเยอรมนี และการประกวดภาพถ่าย ซึ่งมีเยาวชนส่งภาพเข้าประกวดทั้งสิ้น ๔๙ ราย โดยมีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับ ๑ – ๓ และรางวัลชมเชย ๖ รางวัล รวม ๙ รางวัล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในหมู่เยาวชนและกำลังใจในความมุ่งมั่นศึกษาต่อในสายวิชาชีพ อนึ่ง ในปัจจุบันเยอรมนีถือเป็นมิตรแท้และหุ้นส่วนหลักของไทยในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี อาทิ การพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีตามมาตรฐานเยอรมัน โครงการพัฒนาครูฝึกช่างเทคนิคขั้นสูง และการลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในหลากหลายสาขา
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **