กองทัพอากาศไทยเข้าร่วมปฏิบัติการตรวจจับการทำประมงผิดกฎหมาย

กองทัพอากาศไทยเข้าร่วมปฏิบัติการตรวจจับการทำประมงผิดกฎหมาย

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 1,479 view
         กองทัพอากาศจัดตั้งศูนย์บัญชาการและควบคุมทางอากาศ เพื่อปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำประมง (FMC) ของกรมประมง และศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เพื่อใช้อากาศยานในการตรวจจับเป้าหมายทางทะเลทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๒๐ ชั่วโมง โดยศูนย์ FMC และ ศรชล. ทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการอากาศยานให้ตรวจสอบเมื่อพบเรือประมงที่กระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งการประสานงานระหว่างหน่วยภาคพื้นดินและภาคอากาศในการระบุและสอบทานพิกัดของเป้าหมายที่ได้รับแจ้งจากระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System - VMS) และระบบติดตามเรือพาณิชย์ (Automatic Identification System - AIS) โดยกองทัพอากาศไทยได้ทดสอบขีดความสามารถของอากาศยานเมื่อวันที่ ๑๑ - ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ ในการตรวจจับเรือประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำไทย 
          ทั้งนี้ กองทัพอากาศได้พัฒนาอุปกรณ์ตรวจจับ ซึ่งติดตั้งกับอากาศยานของกองทัพอากาศ และได้กำหนดแนวทางการค้นหาเป้าหมายในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการทำประมงผิดกฎหมายออกเป็น ๔ พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ A1 ชายฝั่งทะเลตะวันออก พื้นที่ A2 ชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนบน พื้นที่ A3 บริเวณกลางอ่าวไทย และพื้นที่ A4 ชายฝั่งภาคใต้ตอนล่าง โดยได้มอบหมายอากาศยานรับผิดชอบแต่ละพื้นที่ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินขับไล่และอากาศยานไร้คนขับด้วย
          ผลการปฏิบัติงานในเบื้องต้นพบการกระทำผิดที่สำคัญ ได้แก่ การตรวจพบเรือบรรทุกน้ำมันปล่อยของเสียลงทะเล ซึ่งได้แจ้ง ศรชล. เขต ๑ เข้าดำเนินการจับกุมผู้ต้องการได้ทันท่วงที ณ จุดเกิดเหตุ  การตรวจพบเรือประมงที่ไม่เปิดสัญญาณ VMS จากการสอบเทียบสัญญาณ VMS กับข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากอากาศยาน และการตรวจพบเรือประมงพาณิชย์ที่ลักลอบทำประมงในเขตประมงพื้นบ้านบริเวณชายฝั่งจังหวัดจันทบุรีทางภาคตะวันออก โดยศูนย์ FMC ซึ่งได้ประสานศูนย์บัญชาการของกองทัพอากาศ ให้ส่งอากาศยานเพื่อค้นหาเป้าหมายในพื้นที่ดังกล่าวจนนำไปสู่การตรวจจับเรือได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบเรือประมงที่จดทะเบียนเครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตักลักลอบจับปลาในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้มีการตรวจจับดำเนินคดีในที่สุดด้วย
          จากผลการปฏิบัติการทั้งหมด ๒๒ เที่ยวบิน รวม ๖๓.๕ ชั่วโมงบิน พบว่า อากาศยานที่ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับสามารถตรวจพบและพิสูจน์ทราบเป้าหมายได้ทั้งสิ้น ๑๖๐ เป้าหมาย ซึ่งอุปกรณ์ตรวจจับมีขีดความสามารถในการตรวจสอบพฤติกรรมเรือ โดยสามารถระบุวัน เวลา และพิกัดเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบได้ ทั้งในเวลากลางวันและเวลากลางคืน และระบุเครื่องหมายประจำเรือประมงได้อย่างชัดเจน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นหลักฐานที่สำคัญและเป็นข้อมูลสนับสนุนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทางทะเลต่อไป
          อนึ่ง การทดสอบขีดความสามารถของอากาศยานของกองทัพอากาศไทยในการตรวจจับเรือประมงผิดกฎหมายดังกล่าวนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาระบบตรวจจับทางทะเลที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสามารถผนึกกำลังในการปฏิบัติภารกิจทางทะเลระหว่างกรมประมง กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการใช้แรงงานผิดกฎหมายบนเรือประมงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย