ตามที่องค์กร Human Rights Watch (HRW) ได้เผยแพร่ข่าวเรื่อง “Thailand: Labor Abuses Persist in Fishing Fleets” เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑ โดยระบุว่า ไทยล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมง กระทรวงการต่างประเทศขอปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่ HRW นำเสนอข้อมูลที่อคติ ไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงในปัจจุบัน และละเลยภาพรวมของการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีความก้าวหน้าขึ้นหลายด้าน
ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ไทยได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานภาคประมง อาทิ การจดทะเบียนแรงงานและการออกใบอนุญาตทำงานเพื่อนำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้อง การแก้ไขกฎระเบียบให้แรงงานต่างด้าวสามารถเปลี่ยนนายจ้าง ประเภทงาน สถานที่ทำงานได้สะดวกขึ้น การออกระเบียบบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงทะเลเป็นรายเดือนผ่านช่องทางธนาคาร การประกาศใช้ระเบียบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่าด้วยการตรวจแรงงานและการดำเนินคดีอาญาผู้กระทำความผิดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อให้การตรวจแรงงานและการดำเนินคดีในงานประมงทะเลเป็นไปอย่างเข้มงวด รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการตรวจเรื่องการจ่ายค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงานและเวลาพัก ตลอดจนการพัฒนาช่องทางการร้องเรียนด้านแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแรงงานต่างด้าวสามารถเข้าถึงได้ทั้งช่องทางของภาครัฐและ NGOs
มาตรการคุ้มครองแรงงานใหม่ ๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่ HRW ทราบดีอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลไทยมิได้ประกาศออกมาเพียงเพื่อที่จะสร้างภาพลักษณ์ แต่ได้พยายามดำเนินมาตรการเหล่านี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างเต็มที่ จนส่งผลให้สถานการณ์ด้านแรงงานประมงทะเลดีขึ้นตามลำดับ เห็นได้จากรายงานภายใต้โครงการ Ship to Shore Rights ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) ประจำประเทศไทย ซึ่งเปิดเผยผลการวิจัยข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับแรงงานประมงในประเทศไทย (Baseline Survey) เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ พบว่าสถานการณ์แรงงานประมงของไทยได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงดีขึ้นมาก สถิติแรงงานถูกทำร้ายร่างกาย และการใช้แรงงานเด็กลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สถิติแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ และการที่แรงงานมีสัญญาจ้าง ก็เพิ่มขึ้นด้วย ILO เห็นว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่อยู่ในแนวหน้าของการแก้ไขปัญหาแรงงานในภูมิภาค
นอกจากรายงานของ ILO แล้ว ความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงของไทยยังสะท้อนจากการที่ไทยได้รับการเลื่อนลำดับรายงานค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาจาก TIER 2 Watch List เป็น TIER 2 อันสะท้อนให้เห็นว่าไทยกำลังเดินมาถูกทาง แม้จะยังมีหลายสิ่งต้องทำต่อไป แต่คงไม่เป็นการยุติธรรมอย่างยิ่ง หากจะบอกว่าสิ่งที่ไทยกำลังพยายามทำอยู่นี้คือความล้มเหลว
สิ่งที่ HRW เรียกร้องให้ไทยดำเนินการนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอยู่แล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่างหรือปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่อรองรับการเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๙๘ ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง อนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๘๗ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในเรือประมง รวมถึงการเตรียมประกาศใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและขจัดแรงงานบังคับ เพื่ออนุวัติพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เข้าเป็นภาคีแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการตรวจแรงงานทั้งที่ศูนย์ PIPO และกลางทะเลอีกหลายด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานประมงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน
ประเทศไทยแก้ไขปัญหาแรงงานประมงควบคู่กับการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย และให้ความสำคัญกับทั้งสองเรื่องเท่ากัน เพราะเป้าหมายของไทยมิใช่เฉพาะการทำประมงอย่างยั่งยืน แต่เป็นการทำประมงที่มีจริยธรรมและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนด้วย ไทยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์การแก้ไขปัญหา และเป็นแบบอย่างที่ดีของการทำประมงอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในภูมิภาค ในขณะที่สหภาพยุโรปก็ยอมรับความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาของไทย และต้องการให้ไทยเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือในระดับภูมิภาคเช่นกัน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความสำเร็จ และมิใช่ความล้มเหลวแต่อย่างใด