เลขาธิการ UNCTAD เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เลขาธิการ UNCTAD เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,548 view
เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑ Dr. Mukhisa Kituyi เลขาธิการองค์การการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เข้าเยี่ยมคารวะนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า รัฐบาลไทยและ UNCTAD มีความร่วมมืออันยาวนาน รวมถึงการจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) อันเป็นผลลัพธ์การประชุม UNCTAD ครั้งที่ ๑๐ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี ๒๕๔๓
 
เลขาธิการ UNCTAD กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่ได้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานของ UNCTAD และได้มีบทบาทนำในกลุ่ม ๗๗ ในเรื่องต่าง ๆ เช่น การระดมทุนเพื่อการพัฒนา (Financing for Development – FfD) ซึ่งทำให้กลุ่มฯ มีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการประชุม UNCTAD ครั้งที่ ๑๔ ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา เมื่อปี ๒๕๕๙ นอกจากนี้ เลขาธิการ UNCTAD ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ซึ่ง UNCTAD เห็นว่า กระแสการกีดกันทางการค้า (protectionism) อาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญกับ SDGs และได้มีบทบาทนำในกรอบระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน รวมทั้งได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับธนาคารโลกและสหภาพยุโรปเพื่อสนับสนุนการบรรลุ SDGs ในประเทศต่าง ๆ โดยได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy หรือ SEP) มาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง 
 
เลขาธิการ UNCTAD ได้กล่าวชื่นชมบทบาทนำของไทยในการช่วยเหลือประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries – LDCs) ผ่านการดำเนินงานของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ TICA ซึ่ง UNCTAD ประสงค์จะกระชับความร่วมมือกับไทยเพื่อขยายการให้ความช่วยเหลือไปยังภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอฟริกา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นพ้องและเห็นว่า น่าจะดำเนินการตามแนวทางความร่วมมือในรูปแบบไตรภาคี (Triangular Cooperation)
 
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเลขาธิการ UNCTAD ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เช่น เรื่องการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง UNCTAD ให้ความสำคัญอย่างมากเนื่องจากสามารถช่วยยกระดับการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ได้ในเรื่องการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องมีการติดตามผลกระทบเชิงลบต่อตลาดแรงงาน และการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่ง UNCTAD เห็นว่า ไทยได้มีบทบาทนำในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงอย่างเป็นรูปธรรม
 
อนึ่ง UNCTAD หรือ United Nations Conference on Trade and Development เป็นองค์กรภายใต้สหประชาชาติ ที่จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๖๔ (พ.ศ. ๒๕๐๗) โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้ง ทำหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประเทศในประเด็นด้านการค้า การเงิน การลงทุน และเทคโนยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ปัจจุบันมีสมาชิก ๑๙๔ ประเทศและมี Dr. Mukhisa Kituyi ชาวเคนยา เป็นเลขาธิการ UNCTAD คนปัจจุบัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ