ผู้แทนระดับสูงและเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศสมาชิก ESCAP กว่า ๘๐ คน เข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (ความร่วมมือใต้-ใต้) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ

ผู้แทนระดับสูงและเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศสมาชิก ESCAP กว่า ๘๐ คน เข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (ความร่วมมือใต้-ใต้) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,294 view

           เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมพิธีเปิดและกล่าวเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (ความร่วมมือใต้-ใต้) ร่วมกับนาย Kaveh Zahedi รองเลขาธิการบริหารด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Deputy Executive Secretary for Sustainable Development, the Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – ESCAP) และนาย Jorge Chediek ผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยความร่วมมือใต้-ใต้ และผู้อำนวยการสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ (Envoy of the United Nations Secretary-General on South-South Cooperation and Director of United Nations Office for South-South Cooperation - UNOSSC) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

          การประชุมดังกล่าวแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ประกอบด้วย การประชุม Regional Consultation on South-South Cooperation in Asia and the Pacific: Towards the Buenos Aires Plan of Action 40th Anniversary และการประชุม Asia-Pacific Forum for South-South and Triangular Cooperation ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ
ร่วมกับ UNOSSC และ ESCAP ได้จัดขึ้นเพื่อเตรียมการด้านสารัตถะในประเด็นสำคัญของประเทศสมาชิก ESCAP สำหรับการประชุม Second United Nations High-level Conference on South-South Cooperation (BAPA+40) ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ กรุงบัวโนสไอเรส สาธารณรัฐอาร์เจนตินา เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ ๔๐ ปี ของการอนุวัติแผนปฏิบัติการบัวโนสไอเรส ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศกำลังพัฒนา และเพื่อทบทวนความคืบหน้า ความท้าทาย แนวโน้ม และโอกาสของความร่วมมือใต้-ใต้ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านความร่วมมือใต้-ใต้ ในมิติต่าง ๆ อาทิ จากการศึกษาดูงานโครงการที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้และสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านความร่วมมือใต้-ใต้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ศูนย์สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก และพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานีด้วย

          ในโอกาสนี้ ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวเน้นย้ำ (๑) ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของความร่วมมือใต้-ใต้ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความประสงค์ของประเทศกำลังพัฒนาที่จะมีความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (solidarity) บนหลักการที่สำคัญ เช่น การเคารพต่ออำนาจอธิปไตย การไม่แทรกแซงกิจการภายใน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งทำให้ความร่วมมือใต้-ใต้เป็นหนึ่งในแนวทางความร่วมมือที่สำคัญที่ช่วยเสริม (complement) ความร่วมมือเหนือ-ใต้ ที่มีมาแต่เดิม (๒) ความสำคัญของกรอบความร่วมมือใต้-ใต้ ต่อภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภูมิภาค
และอนุภูมิภาค และ (๓) ความตั้งใจของไทยที่จะมีบทบาทที่แข็งขันและต่อเนื่องในการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค องค์การระหว่างประเทศ และประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ในกรอบความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยได้ดำเนินนโยบาย SEP for SDGs Partnership มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การเป็นประธานกลุ่ม ๗๗ ในปี ๒๕๕๙ ในการเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) ให้เป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs)

          การประชุมประกอบด้วยผู้แทนระดับสูงและเจ้าหน้าที่อาวุโสจากหน่วยงานด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของประเทศสมาชิกและสมาชิกสมทบ ESCAP พร้อมทั้งผู้แทนจากภาคเอกชน สถาบัน think tank และภาคประชาสังคม รวมจำนวนกว่า ๘๐ คน

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ