ไทยร่วมกับองค์กร SeaWeb จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SeaWeb Seafood Summit ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านธุรกิจอาหารทะเลที่ยั่งยืนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนจากทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติที่มุ่งไปสู่การทำประมงที่ยั่งยืน
ไทยได้ปฏิรูปภาคประมงอย่างจริงจังและต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยเฉพาะการขจัดปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) อย่างเป็นระบบ จนมีความก้าวหน้าที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีของการทำประมงอย่างยั่งยืนในภูมิภาค และพร้อมที่จะร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแก้ไขปัญหาของไทยให้กับประเทศและองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไทยได้ส่งคณะผู้แทนนำโดยนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เข้าร่วมการประชุม SeaWeb Seafood Summit ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ ที่นครบาร์เซโลนา สเปน และเข้าร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “Environmental and Ethical Sustainability through Transparency, Traceability and Accountability” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิ Environmental Justice Foundation (EJF) เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๑ โดยไทยได้นำเสนอความก้าวหน้าการปฏิรูปภาคประมงของไทย โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำและสินค้าประมงตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมทั้งการตรวจสอบด้านแรงงานอย่างเข้มงวด นับตั้งแต่ท่าเรือ ในทะเล จนถึงโรงงานแปรรูป ซึ่งนาย Steve Trent ผู้อำนวยการมูลนิธิ EJF ได้กล่าวชื่นชมความก้าวหน้าของไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ในเวทีดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ในงานดังกล่าว ยังมีการมอบรางวัล Seafood Champion เพื่อเชิดชูบุคคลหรือหน่วยงานที่มีผลงานโดดเด่นในการส่งเสริมธุรกิจอาหารทะเลที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งในปีนี้ นางปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้รับมอบรางวัล Seafood Champion สาขาการให้ความช่วยเหลือ (Advocacy) สำหรับการอุทิศตนเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานประมงไทยและต่างด้าวด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่แข็งขันของภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่สำคัญของทางการไทยในการขจัดแรงงานค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของไทย ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่ให้สัตยาบันสารพิธีสาร ค.ศ. ๒๐๑๔ ของอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. ๑๙๓๐ เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ และกำลังออกกฎหมายภายในที่สอดคล้องกับพิธีสาร เพื่อประสิทธิภาพของการบังคับใช้ต่อไป