เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับผู้บริหารระดับสูง (CEO) ของบริษัทชั้นนำของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีกิจการลงทุนในไทย รวม ๓ บริษัท ได้แก่ บริษัท ARUP ด้านโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท HSBC ด้านการเงินและการธนาคาร และบริษัท Prudential ด้านธุรกิจประกันภัยในไทย
นายกรัฐมนตรีชี้แจงให้นักธุรกิจสหราชอาณาจักรทราบถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ของชาติระยะยาว ๒๐ ปี และนโยบาย Thailand 4.0 โดยมีแผนการปฏิรูปด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ โดยได้กำหนดโครงการนำร่องที่เขตเศรษฐกิจ Eastern Economic Corridor (EEC) ซึ่งเหมาะสมกับการเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุน ที่มีการเชื่อมโยงภาคตะวันออกสู่ตะวันตก และจะขยายจากภาคเหนือสู่ใต้ในอนาคต ซึ่งแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งนักลงทุนจากสหราชอาณาจักรเข้ามามีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยครั้งสำคัญนี้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้นักธุรกิจสหราชอาณาจักรพิจารณาถึงศักยภาพของประเทศไทยที่มีที่ตั้งใจกลางอาเซียน และศูนย์กลางของกลุ่มประเทศบนภาคพื้นทวีป ซึ่งมีประชากรกว่า ๖๓๐ ล้านคน และมี GDP สูงถึงร้อยละ ๖.๘ และในการประชุม Ayeyawady- Chao Phraya- Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS) ครั้งที่ ๘ ที่กรุงเทพฯ ประเทศสมาชิกได้รับรองแผนแม่บทที่จะเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคแบบไร้รอยต่อ นายกรัฐมนตรีจึงได้เชิญชวนนักลงทุนสหราชอาณาจักรเข้ามาร่วมพัฒนาแผนแม่บทนี้ด้วย
บริษัท ARUP เข้ามาดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และโครงการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสีน้ำเงินในประเทศไทยและประสงค์จะขยายการลงทุนในประเทศไทยอีกหลายเท่าในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมือง (urban infrastructure) นายกรัฐมนตรีย้ำถึงโอกาสการลงทุนในเขต EEC ซึ่งมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ๕ โครงการ โดยใช้งบประมาณลงทุนถึง ๒๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
บริษัท HSBC เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า ๑๓๐ ปี ในธุรกิจภาคบริการทางการเงินและการธนาคาร บริษัทฯ สนใจโอกาสที่ HSBC จะมีส่วนร่วมในแผนการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า HSBC สามารถใช้เครือข่ายความร่วมมือที่มีอย่างกว้างขวางในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) ในโครงการภายใต้ EEC และแจ้งว่าในการประชุม ACMECS ครั้งที่ ๘ รัฐบาลยังได้ริเริ่มการจัดตั้งกองทุน ACMECS เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ซึ่งประเทศสมาชิกได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะจัดตั้งกองทุน ACMECS Fund ภายในปี ๒๕๖๒ จึงเป็นโอกาสที่ HSBC จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับประเทศสมาชิกในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว
บริษัท Prudential เป็นบริษัทบริหารจัดการทรัยพ์สิน มีความชำนาญและมีการลงทุนด้าน Fintech และ Digital Economy ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก และพร้อมที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญด้าน Fintech และ Digital Economy มาให้คำแนะนำรัฐบาลในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าข้อเสนอของบริษัทสอดคล้องกับแผนพัฒนาดิจิทัลของประเทศ จึงขอให้ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทพบหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายกรัฐมนตรีได้ย้ำกับนักลงทุนของสหราชอาณาจักรว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติของทุกชาติอย่างเท่าเทียม ภายใต้การแข่งขันอย่างเสมอภาค บนพื้นฐานของธรรมาภิบาลและความโปร่งใส นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องการผู้เล่นใหม่ ๆ (new players) มาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นโอกาสดียิ่งของบริษัทจากสหราชอาณาจักรที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยไม่ต้องรอหลังการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะช้าเกินไป
ทั้งนี้ ภายหลังจากการหารือกับนักธุรกิจรายบริษัท นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานเปิดงานสัมมนา Transforming Thailand ณ กรุงลอนดอน ซึ่งร่วมกันจัดโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน สำนักงาน BOI และสภานักธุรกิจชั้นนำไทย - สหราชอาณาจักร (Thai - United Kingdom Business Leadership Council - TUBLC) โดยมีนักธุรกิจสหราชอาณาจักรเข้าร่วมงานกันอย่างล้นหลามกว่า ๒๕๐ คน โดยนอกจากจะเน้นย้ำศักยภาพการลงทุนของไทย โดยเฉพาะในเขต EEC แล้ว นายกรัฐมนตรียังขอให้นักธุรกิจสหราชอาณาจักรเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมป ประชาธิปไตยของไทยจะยั่งยืนอย่างแน่นอน โดยนักธุรกิจไม่ต้องกังวล รัฐบาลได้วางแผนพัฒนาประเทศอย่างชัดเจนตามยุทธศาสตร์ของชาติระยะ ๒๐ ปี ซึ่งสามารถยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ แต่ต้องมีความต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้นักธุรกิจสหราชอาณาจักรสามารถวางแผนการลงทุนในระยะยาวในไทยได้