เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๑ นางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือทวิภาคีกับนายอังเดรส พิลเดกอวิช ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐลัตเวีย ซึ่งเดินทางเยือนไทยพร้อมด้วยนายคัสปัซ โอโซลินช ปลัดกระทรวงคมนาคมลัตเวีย ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๑
ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยฝ่ายลัตเวียจะแต่งตั้งให้เอกอัครราชทูตลัตเวียประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเอกอัครราชทูตลัตเวียประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงปักกิ่ง และเห็นชอบให้นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐลัตเวีย โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงสตอกโฮล์ม นอกจากนี้ ไทยยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเรื่องการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำลัตเวียอีกด้วย ทั้งนี้ ในด้านเศรษฐกิจ ฝ่ายลัตเวียได้เชิญชวนให้ไทยใช้ลัตเวียเป็นประตูขนส่งสินค้าไปยังยุโรป ผ่านการขนส่งทางเรือ ทางอากาศ และทางบก โดยไทยสามารถขนส่งสินค้าได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านเมืองมุมไบหรืออิหร่าน และอาเซอร์ไบจาน ทำให้ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะระบบรางที่เชื่อมต่อไปยังจีน ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาขนส่งได้มากกว่าทางเรือ
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนทรรศนะเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย เช่น Brexit บทบาทของจีนในภูมิภาค รวมทั้งความร่วมมือที่มากขึ้นระหว่างลัตเวียกับประเทศในเอเชีย อาทิ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการไทย – ลัตเวีย เพื่ออำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนการเยือนและการเดินทางไปปฏิบัติราชการของนักการทูตและเจ้าหน้าที่รัฐของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้แจ้งฝ่ายลัตเวียเกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบในการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว พำนักได้ไม่เกิน ๓๐ วัน (ผ. ๓๐) แก่ฝ่ายลัตเวีย ซึ่งมีผลให้นักท่องเที่ยวชาวลัตเวียสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ไม่เกิน ๓๐ วันโดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและความสัมพันธ์ระดับประชาชนต่อประชาชนระหว่างกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการภายในของฝ่ายไทยเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ในการเยือนไทยครั้งนี้ ฝ่ายลัตเวียมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ของลัตเวียต่อประเทศในเอเชีย โดยพยายามจะพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาคบอลติกและเป็นจุดกระจายสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรป