ไทยใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย

ไทยใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,338 view
เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปติดตามการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle – UAV) ตรวจการทางทะเล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง ณ สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง  
 
การใช้อากาศยานไร้คนขับในการตรวจการทางทะเลมีการปฏิบัติงานใน ๒ รูปแบบ คือ (๑) การป้องปราม ด้วยการออกตรวจตามแผนงานและส่งข้อมูลการกระทำความผิดในทะเลที่พบไปยังศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำประมง (Fisheries Monitoring Center – FMC) เพื่อประสานหน่วยตรวจในทะเลและศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (Port-in Port-out – PIPO) เพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อไป และ (๒) การปราบปราม ด้วยการรับแจ้งจากศูนย์ FMC ที่ตรวจพบพฤติกรรมการทำประมงผิดปกติจากระบบติดตามเรือ (Vessel Monitoring System – VMS) ให้ออกตรวจทางอากาศ เพื่อสอบยันการกระทำความผิดและประสานหน่วยตรวจในทะเลและศูนย์ PIPO ให้ดำเนินการต่อไป
 
การใช้อากาศยานไร้คนขับเป็นการนำเทคโนโลยีการตรวจการทางอากาศของกองทัพอากาศ ซึ่งปกติใช้ในภารกิจด้านความมั่นคง มาประยุกต์ใช้กับการเพิ่มประสิทธิภาพการติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง การทำประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักลอบเข้ามาทำประมงในน่านน้ำไทยของเรือประมงต่างชาติ ในเบื้องต้น กองทัพอากาศให้การสนับสนุนอากาศยานไร้คนขับ ๑ เครื่อง และกำหนดแผนการตรวจร่วมกับศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฏหมาย (ศปมผ.) โดยในระยะที่ ๑ จะตรวจในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ระยะที่ ๒ จะขยายพื้นที่ไปยังอ่าวไทยตอนล่าง และระยะที่ ๓ จะตรวจในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันด้วย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลา ๔ เดือน
 
การนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับดังกล่าวมาใช้จะช่วยชี้เป้าเรือประมงที่ปฏิบัติผิดกฎหมายออกจากเรือประมงที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงเรือประมงต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำประมงในเขตน่านน้ำไทย นอกจากนี้ อากาศยานไร้คนขับยังช่วยแก้ไขข้อจำกัดในการทำงานของหน่วยตรวจทางทะเล ได้แก่ การเห็นภาพรวมมุมกว้าง และการบันทึกข้อมูลด้วยระบบบันทึกภาพดิจิทัลที่ทันสมัยและเห็นพฤติกรรมชัดเจน ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานในการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้องและแม่นยำอีกด้วย
 
รัฐบาลไทยเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมทั้งระบบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับดังกล่าวมาใช้เป็นหนึ่งในพัฒนาการที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง และการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น