ผลการประชุม ACMECS CEO Forum

ผลการประชุม ACMECS CEO Forum

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,339 view

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ได้มีการจัดประชุม ACMECS CEO Forum หัวข้อ “เสริมสร้างความเชื่อมโยงทุกมิติ เพื่ออนาคตร่วมกันของสมาชิกลุ่มน้ำโขง” (Connecting Our Future: Enhancing ACMECS Cooperation and Integration) ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญของการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิด และ อูวินมยิน ประธานาธิบดีเมียนมา และสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ร่วมแสดงวิสัยทัศน์

การประชุม ACMECS CEO Forum เป็นข้อริเริ่มของไทยเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล มุมมองและประสบการณ์ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงินจากทั้งสมาชิก ACMECS และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการรับฟังข้อเสนอแนะและข้อริเริ่มเพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการเชื่อมโยง การค้าการลงทุน และภาคการเงิน

นายกรัฐมนตรีเน้นว่า ภาคเอกชนจะมีบทบาทในการพัฒนา ACMECS เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายใต้แผนแม่บท 5 ปี ของ ACMECS ซึ่งผู้นำประเทศสมาชิก ACMECS จะรับรองในวันที่ 16 มิถุนายน 2561 โดยเฉพาะในการเป็นผู้ขับเคลื่อนการเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค เพื่อให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนเดินหน้าไปพร้อมกัน เช่น ร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ Public-Private Partnership (PPP) และการเตรียม ACMECS ให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ อาทิ การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ (e-commerce) และฟินเทค นอกจากนี้ ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์และเจริญเติบโตไปพร้อมกัน

ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมากล่าวสนับสนุนข้อริเริ่มของไทยในการปรับปรุงประสิทธิภาพของ ACMECS โดยเฉพาะการมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน สถาบันการเงิน ทั้งภายในภูมิภาคและกับประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวสนับสนุนการจัดทำแผนแม่บท ACMECS 5 ปี เพราะจะช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงดิจิทัล การค้า  การลงทุน การเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะธุรกิจแบบ SME เพื่อลดช่องว่างของการพัฒนาและเพิ่มความเชื่อมโยง

นายสมคิด จาตุศรีพักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ปัจจุบันเป็นยุคของเอเชีย (Rising Asia)พราะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนสามารถดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก สิ่งที่ประเทศสมาชิก ACMECS ควรพิจารณา คือ จะทำอย่างไรให้การเติบโตยั่งยืนและสามารถปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งแผนแม่บท ACMECS จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมและเขตเศรษฐกิจพิเศษของสมาชิก ACMECS ให้เกื้อกูลกัน และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายทุน แรงงาน สินค้า

รองนายกรัฐมนตรีเห็นว่า การทำให้ ACMECS เข้าถึงแหล่งทุนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลักดันความร่วมมือในระยะยาว ไทยจึงได้เสนอตั้งกองทุน ACMECS ซึ่งจะมีการหารือรายละเอียดต่อไป นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มีความร่วมมือระหว่าง Pan Pearl River Delta (PPRD) กับ ACMECS เพราะต่างมีพรมแดนติดกัน และจะเป็นการรองรับ Belt and Road Initiative (BRI) โดยอาจเริ่มจากการเชื่อมโยงกับกวางตุ้ง มาเก๊า ฮ่องกง ก่อนขยายสู่ทั้ง 11 มณฑล รวมทั้งอาจร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอื่นๆ ด้วย เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ อียู โดยใช้แผนแม่บทเป็นกรอบดำเนินการ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีปรากฏการณ์ 4 ประการที่กำลังเกิดขึ้น ได้แก่ (1) BRI (2) แนวคิดอินโดแปซิฟิก (3) ความตกลงการค้าเสรี Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) และ (4) ตกลงการค้าเสรี Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ซึ่งกล่าวได้ว่า ACMECS เป็นศูนย์กลางของทุกกรอบความร่วมมือ จึงจำเป็นต้องเตรียมตัวโดยการปรับปรุงกฎระเบียบและหาทางเชื่อมโยง Big Data ระหว่างกันเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอนุภูมิภาค

อนึ่ง ภายหลังการประชุม ACMECS CEO Forum รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมด้วย

ในการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 ไทยจะเสนอร่างแผนแม่บท 5 ปี ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการฉบับแรกให้ที่ประชุมผู้นำรับรอง เพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของ ACMECS ให้คล่องตัว มุ่งสู่การเชื่อมโยงประเทศสมาชิกในทุกมิติเศรษฐกิจทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสอดประสานกฎระเบียบ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นประชาคมลุ่มน้ำโขง ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ดังนั้น การประชุม ACMECS CEO Forum ครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์ในการให้หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอแนะในการวางแผนพัฒนา ACMECS ไปด้วยกันและบูรณาการการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน