วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มิ.ย. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
คำกล่าวของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
การแถลงข่าวร่วมในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของอูวินมยิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๑
ฯพณฯ อูวินมยิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
คณะผู้แทนแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนทุกท่าน
ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับ ฯพณฯ อูวินมยิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและ ดอ โช โช ภริยา พร้อมด้วยคณะผู้แทนระดับสูงของเมียนมา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ด้วย
ปีนี้ เป็นปีที่เมียนมากับไทยฉลองครบรอบ ๗๐ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ดังนั้น การเยือนไทยของท่านประธานาธิบดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการในกรอบทวิภาคีเป็นประเทศแรกหลังจากที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จึงมีความหมายเป็นพิเศษและเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติที่แน่นแฟ้นของสองประเทศ
เมื่อสักครู่นี้ ผมและท่านประธานาธิบดีได้หารือข้อราชการกันอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ หลายประเด็น ได้แก่
๑. การพัฒนาตามแนวชายแดนและความร่วมมือด้านความเชื่อมโยง ไทยและเมียนมาเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด มีผลประโยชน์เชื่อมโยงกันทุกด้าน ดังนั้น เราจึงเห็นพ้องที่จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาตินี้ให้ใกล้ชิดในทุกมิติ หัวใจสำคัญของความร่วมมือไทยและเมียนมาคือ การพัฒนาตามแนวชายแดนและความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งจะนำประโยชน์มาสู่ประชาชนและความเจริญตามแนวชายแดนของสองประเทศอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม
ไทยจึงพร้อมให้ความร่วมมือกับเมียนมาในการพัฒนาพื้นที่และชุมชนตามแนวชายแดน บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะหารือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้โครงการการพัฒนาตอบสนองต่อความต้องการและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ส่วนเรื่องความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อนั้น ผมเสนอให้สานต่อและใช้ประโยชน์จาก แผนยุทธศาสตร์ ACMECS ซึ่งเป็นแผนแม่บทของประเทศสมาชิก ACMECS ทุกประเทศ โดยในส่วนเส้นทางเชื่อมต่อไทยกับเมียนมานั้น ผมเห็นว่า ทั้งสองประเทศต้องเร่งรัดการพัฒนาอย่างครบวงจรในเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East – West Economic Corridor - EWEC) และแนวระเบียงเศรษฐกิจใต้ (Southern Economic Corridor) หากพัฒนาทั้งสองเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจนี้ได้สำเร็จ ก็จะก่อให้เกิดการเชื่อมต่อของห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพและเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์
ท่านประธานาธิบดีและผมยังเห็นพ้องว่าเส้นเขตแดนควรเป็นเส้นเขตแดนแห่งความร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการไปมาหาสู่ระหว่างของประชาชนทั้งสองประเทศ และขอให้หน่วยงานทั้งสองประเทศหารือเพื่อแสวงหาทางออกที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน
๒. ความร่วมมือส่งเสริมการค้าและการลงทุน ผมได้ให้คำมั่นกับท่านประธานาธิบดีว่าจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาอย่างมีความรับผิดชอบต่อชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม
โดยที่ท่านประธานาธิบดีก็พร้อมที่จะดูแลนักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาให้ได้รับความสะดวกด้วยเช่นกัน
๓. โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งเป็นโครงการที่จะสร้างความเชื่อมโยง
ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิกนั้น ผมและท่านประธานาธิบดีเห็นพ้องให้หน่วยงานทั้งสองฝ่ายหารือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ ต่อไป เพื่อผลประโยชน์ของเมียนมา ไทย และภูมิภาค
๔. การคุ้มครองแรงงานเมียนมาในประเทศไทย ผมย้ำความสำคัญของแรงงานเมียนมา
ที่เป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย และไทยจะให้การคุ้มครองดูแลแรงงานเมียนมาตามกฎหมายไทยต่อไปและเราเห็นพ้องที่จะส่งเสริมให้แรงงานเมียนมาเข้ามาทำงานในไทยผ่านความตกลงว่าด้วยการจ้างงานในกรอบรัฐต่อรัฐอย่างจริงจังด้วย
ผมได้ขอบคุณทางการเมียนมาที่ร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดจนกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานเมียนมาใกล้แล้วเสร็จและเป็นไปตามกำหนด ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันอันเกิดจากความมุ่งมั่นและความร่วมมือระหว่างสองประเทศ
๕. สถานการณ์ในรัฐยะไข่ ผมได้ให้กำลังใจและสนับสนุนความพยายามของเมียนมา
ในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมียนมาได้เปิดรับความร่วมมือจากสหประชาชาติมากขึ้นและจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบสถานการณ์ในรัฐยะไข่ด้วย
นอกจากนี้ ผมได้ยืนยันความพร้อมของไทยที่จะเข้าไปดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ ในรัฐยะไข่ เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน
๖. การส่งผู้หนีภัยการสู้รบกลับเมียนมา ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการส่งผู้หนีภัยการสู้รบกลับมาตุภูมิ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการมาแล้ว ๒ ครั้ง ส่งกลับได้ รวม ๑๖๔ คน และจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การส่งกลับกลุ่มต่อ ๆ ไป มีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากยิ่งขึ้นบนพื้นฐานของความปลอดภัย ความสมัครใจและมีศักดิ์ศรี
๗. ประเด็นด้านพหุภาคี ท่านประธานาธิบดีพร้อมจะสนับสนุนร่างแผนแม่บท ACMECS และปฏิญญากรุงเทพฯ ที่จะรับรองในการประชุม ACMECS ในวันที่ ๑๖ มิ.ย. นี้ ซึ่งเป็นรากฐานความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อของอนุภูมิภาคในอนาคต รวมทั้งยังแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนไทยเมื่อดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) โดยเฉพาะการผลักดันประเด็นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน การส่งเสริมความเชื่อมโยง และการพัฒนาไปสู่ยุค ๔.๐ อีกด้วย
สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณ ฯพณฯ อู วิน มิ้น ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาอีกครั้ง สำหรับความปรารถนาดีและความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมมือกันผลักดันประเด็นสำคัญต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ และความผาสุกของประชาชนชาวไทยและเมียนมาอย่างแท้จริง
ขอบคุณครับ
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **