การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับโครงการ Country Programme ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับโครงการ Country Programme ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,181 view

                  เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนาย Angel Gurria เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับ Country Programme (CP) ระหว่างการประชุมคณะมนตรี OECD ระดับรัฐมนตรี (The Meeting of the OECD Council at Ministerial Level หรือ MCM) ระหว่างวันที่ ๓๐ – ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

                   โครงการ CP เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับ OECD เป็นระยะเวลา ๓ ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง OECD กับประเทศไทยอย่างบูรณาการ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของไทยในหน่วยงานของ OECD โดยมีรูปแบบความร่วมมือ ได้แก่ (๑) การจัดทำรายงานวิเคราะห์นโยบายเพื่อศึกษา/ประเมินนโยบายด้านนั้น ๆ ของประเทศไทย (๒) การเพิ่มการมีส่วนร่วมของหน่วยงานไทยในองค์กรของ OECD ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเป็นสมาชิกหรือผู้สังเกตการณ์ในคณะกรรมการด้านต่าง ๆ ของ OECD เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี (๓) การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ/ ฝึกอบรมแก่หน่วยงานต่าง ๆ ของไทย (๔) การรับรองตราสารทางกฎหมาย (Legal Instrument) ของ OECD เพื่อยกระดับมาตรฐานของไทยให้ทัดเทียมสากล และ (๕) การส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของไทยไปปฏิบัติงานชั่วคราวที่สำนักเลขาธิการ OECD ณ กรุงปารีส เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรภาครัฐของไทย

                   กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันหารือเรื่องการจัดทำ โครงการ CP มาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถสรุปสาขาความร่วมมือของโครงการ CP ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ การพัฒนาประเทศไทย ๔.๐ รวมทั้งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals - SDGs) โดยมีโครงการย่อยจำนวน ๑๖ โครงการ ภายใต้สาขาความร่วมมือหลัก ๔ สาขา ได้แก่ (๑) ธรรมาภิบาลภาครัฐและความโปร่งใส (๒) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน (๓) ประเทศไทย ๔.๐ และ (๔) การเติบโตอย่างทั่วถึง

                   การเข้าร่วมโครงการ CP จะเป็นช่องทางให้ไทยรับทราบพัฒนาการ เข้าถึงองค์ความรู้ และคลังข้อมูลต่าง ๆ ของ OECD ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในคลังข้อมูลที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดี และช่วยสนับสนุนแผนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งจะเสริมสร้างความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจและมาตรฐานของไทยต่อประเทศสมาชิก OECD นอกจากนี้ จะเป็นการช่วยปูทางสู่การเข้าเป็นสมาชิก OECD หากไทยตัดสินใจที่จะเข้าร่วมในอนาคต และจะช่วยทำให้กระบวนการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปโดยง่ายและรวดเร็วขึ้น

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ