การจับกุมผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์บนเรือประมง

การจับกุมผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์บนเรือประมง

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 1,081 view
          เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ พ.ต.อ. มานะ กลีบสัตบุศย์ รองผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ในภาคประมง ณ กระทรวงการต่างประเทศ ภายหลังจากที่กองปราบปรามการค้ามนุษย์ได้เข้าจับกุมผู้ต้องหา ๒ รายในคดีค้ามนุษย์บนเรือประมง ๒ คดี 
          ผู้ต้องหาทั้ง ๒ คดีได้หลอกลวงและบังคับผู้เสียหายไปทำงานบนเรือประมง ซึ่งผู้เสียหายคดีแรกได้รับการช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา นำตัวออกมาจากเกาะอำบน ประเทศอินโดนีเซีย และผู้เสียหายคดีที่สองได้รับความช่วยเหลือจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และนำส่งกลับประเทศไทย จากการสืบสวนคดีได้นำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหา ๒ ราย เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม และ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ตามลำดับ
          ทางการไทยได้ประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ และมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบอย่างเด็ดขาดตามนโยบาย “Zero Tolerance” ควบคู่ไปกับการปรับปรุงมาตรการด้านแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ และสามารถลดความเสี่ยงของแรงงานจากการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ โดยเฉพาะบนเรือประมง นอกจากนี้ ส่วนราชการไทย ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพเรือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และกรมประมง ได้บูรณาการการทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ในต่างประเทศอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ ซึ่งตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๑ จนถึงปัจจุบัน ทางการไทยได้ช่วยเหลือรับตัวคนไทยกลับมาจากต่างประเทศจำนวน ๖๐ ราย ในจำนวนนี้ตรวจสอบพบว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์จำนวน ๑๑ ราย 
          อนึ่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๗ ทางการไทยยังได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ตกค้างอยู่บนเกาะอำบน ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีการส่งลูกเรือกลับรวมทั้งหมด ๑,๖๙๔ ราย รวมการส่งกลับทั้งหมด ๑๖๐ ครั้ง และพบว่าในจำนวนนี้มีลูกเรือ ๔๐ รายที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ รวมเป็นคดีทั้งหมด ๑๙ คดี ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาแล้วจำนวน ๑๐ คดี