ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA และรองเลขาธิการสหประชาชาติเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA และรองเลขาธิการสหประชาชาติเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 2,200 view
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ นางนาตาเลีย คาเนม ผู้อำนวยการบริหารกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund – UNFPA) และรองเลขาธิการสหประชาชาติ ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสที่นางคาเนมเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะผู้อำนวยการบริหาร UNFPA เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๐
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวชื่นชม UNFPA ที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาประชากรอย่างครอบคลุม และแสดงความยินดีต่อการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ UNFPA ที่กรุงเทพฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ทำพิธีแลกเปลี่ยนหนังสือเพื่อประกอบเป็นความตกลงจัดตั้งสำนักงานเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ รวมทั้งขอบคุณ UNFPA ที่ร่วมมือกับรัฐบาลไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือใต้ – ใต้และไตรภาคี เช่น ในโครงการความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับภูฏานและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
 
นางคาเนมได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่มีความร่วมมือกับ UNFPA เป็นอย่างดีตลอดระยะเวลา ๔๗ ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสาธารณสุข เช่น ความสำเร็จในการยุติการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก และการลดจำนวนการเสียชีวิตของมารดาขณะคลอดบุตร ด้วยความสำเร็จต่าง ๆ ของไทยเหล่านี้นับเป็นแนวปฏิบัติที่ดีเลิศสำหรับแลกเปลี่ยนแบ่งปันให้กับประเทศอื่น ๆ
 
ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในอนาคต เช่น ในกรอบ Country Programme Action Plan (CPAP) รอบที่ ๑๑ ระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและ UNFPA สำหรับช่วงปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นท้าทายด้านการพัฒนาประชากร อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเริ่มตั้งแต่ระดับเยาวชน การรับมือและใช้ประโยชน์จากแรงงานปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) โดยเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นด้วยการเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือใต้ – ใต้ และไตรภาคีในสาขาที่ไทยมีประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเลิศ
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ