กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมคณะทำงานร่วมภาคประชาสังคมและภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ ๒/๒๕๖๑

กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมคณะทำงานร่วมภาคประชาสังคมและภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ ๒/๒๕๖๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,618 view
          เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศและผู้ประสานงานหลัก ด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Ms. SDGs) ประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมคณะทำงานร่วมภาคประชาสังคมและภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ ณ วิเทศสโมสร กระทรวง
การต่างประเทศ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) และผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมประมาณ ๗๐ คน
          ที่ประชุมได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานของทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยนางเดียร์ดรา บอยด์ ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนองค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) และรองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) ประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงการดำเนินโครงการและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทยกับหน่วยงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยที่เป็นไปตามกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ (United Nations Partnership Framework - UNPAF) ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๒๑ และมุ่งส่งเสริมการพัฒนาอย่างครอบคลุม รวมทั้งได้ยกตัวอย่างโครงการด้านการพัฒนาต่าง ๆ ของทีมงานสหประชาชาติที่ดำเนินการในระดับท้องถิ่นและร่วมกับภาคประชาสังคม
          ที่ประชุมยังได้รับฟังสรุปผลการเยือนประเทศไทยของคณะทํางานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ของสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ ๒๖ มีนาคม – ๔ เมษายน ๒๕๖๑ โดยในการเยือนดังกล่าว คณะทำงานฯ ได้แสดงความชื่นชมรัฐบาลไทยที่เชิญให้มาเยือน ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของฝ่ายไทยที่จะเปิดรับข้อคิดเห็นและทำงานร่วมกับกลไกพิเศษของสหประชาชาติ ตลอดจนเห็นว่าการเยือนดังกล่าวถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่สำคัญ ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นประโยชน์ของการเยือนดังกล่าวและเห็นว่าประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนส่งเสริมและมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
          ผู้เข้าร่วมการประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายประเด็น อาทิ การเสริมสร้างพลังสตรีและเด็กหญิง การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการขนาดใหญ่ (Strategic Environmental Assessment - SEA) การสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของคนทุกกลุ่ม และการสร้างเครือข่ายรวมทั้งการเสริมสร้างความรู้ด้าน SDGs ให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs ในขณะเดียวกัน SDGs ก็เป็นตัวกลางที่ช่วยประสานให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ได้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ