นายมิโรสลาฟ ไลชัก (Miroslav Lajčák) ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๒ เยือนไทยระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ ๗๔ ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ และเข้าร่วมกำหนดการสำคัญอื่น ๆ ในวันเดียวกัน ได้แก่ งานเลี้ยงอาหารกลางวันที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพ การศึกษาดูงานเรื่องการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จังหวัดปทุมธานี และการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทย
ในช่วงงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ศักยภาพของไทยในการเป็นเมืองหลวงของสำนักงานขององค์การสหประชาชาติในภูมิภาค การปฏิรูปสหประชาชาติ ความร่วมมือกับสหประชาชาติภายใต้ UN Partnership Framework (UNPAF) การผลักดันการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน วาระที่ไทยเป็นประธาน Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS) ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ และประธานอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นต้น
ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๒ และคณะได้ศึกษาดูงานเรื่องการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ และพบกับผู้แทนเยาวชนไทย โดยประธานสมัชชาสหประชาชาติแสดงความประทับใจในพระราชกรณียกิจ
และพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รวมทั้งการดำเนินงานของสังคมเกษตรไทยที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ และการใช้ภูมิปัญญาไทยสร้างนวัตกรรมการเกษตรที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต
การเยือนไทยของผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติครั้งนี้ช่วยกระชับความสัมพันธ์สำคัญของไทยกับสหประชาชาติให้ใกล้ชิดขึ้น และเป็นโอกาสที่แสดงให้เห็นความมุ่งมั่น การมีส่วนร่วม และบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศที่หลากหลายในประเด็นระดับโลก อาทิ การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน การปฏิรูปสหประชาชาติ และการเชื่อมโยงประเด็นสันติภาพกับการพัฒนาที่ยั่งยืน