ไทยและเยอรมนีเร่งส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ไทยและเยอรมนีเร่งส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,627 view

          เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio-economy (Bioökonomie) คือ การใช้ทรัพยากรทางชีวภาพ ซึ่งได้แก่พืชผลทางการเกษตร การปศุสัตว์ การประมง การทำป่าไม้ รวมไปถึงขยะที่มาจากสิ่งทีชีวิต นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดในธุรกิจสาขาต่าง ๆ ไม่เพียงด้านอาหารและเกษตรเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงด้านพลังงาน เครื่องจักรอุตสาหกรรม ยา เครื่องสำอาง และสิ่งพิมพ์ด้วย รัฐบาลไทยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพอย่างต่อเนื่อง จนมีผู้ประกอบการไทยที่สามารถใช้ประโยชน์จากทางเศรษฐกิจชีวภาพก่อให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจได้ เช่น การนำเซลล์สาหร่ายมาเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิง การผลิตพลังงานจากสารชีวมวล การพัฒนายาสมุนไพร การพัฒนาเทคโนโลยียางพาราเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง การพัฒนาอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูงเป็นพิเศษจากธัญพืชเช่นข้าวหรือถั่วเหลือง นอกจากนี้ สถาบันวิจัยของไทยอีกหลายแห่งก็ผลิตนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้ ในขณะเดียวกันนั้น เยอรมนีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีเทคโนโลยีและรูปแบบการประกอบธุรกิจในสาขาชีวภาพที่น่าสนใจ สนใจที่จะเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับไทย และมีนักวิจัยที่มีองค์ความรู้พร้อมจะแลกเปลี่ยนกับไทยได้

          เพื่อขยายความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวกับเยอรมนี ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเดินทางเยือนกรุงเบอร์ลิน ตามคำเชิญของรัฐบาลสหพันธ์ฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุม Global Bio-economy Summit ครั้งที่ ๒ (GBS) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ร่วมการเสวนาในหัวข้อ “International Collaboration in Bioeconomy Governance” กับรัฐมนตรีจากประเทศเอกวาดอร์และอาร์เจนตินา และ Dr. Klaus Töpfer อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาด้วย ถือเป็นการแสดงศักยภาพและความโดดเด่นของไทยในด้านเศรษฐกิจชีวภาพได้เป็นอย่างดี

          นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้ร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ จัดการศึกษาดูงานเพื่อขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพกับหน่วยงานต่าง ๆ ของเยอรมนี ให้แก่คณะซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะนักธุรกิจด้านเศรษฐกิจชีวภาพ และสื่อมวลชน รวมประมาณ ๗๐ คน ศึกษาดูงานและขยายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ของเยอรมนีได้แก่

(๑) บมจ. Bayer

(๒) อุทยานวิทยาศาสตร์ BIO Tech Park NRW Biotec Park Berlin-Buch และ Adlershof

(๓) บ. Organobalance และ บ. Novozyme

(๔) Max Delbrück Center for Molecular Medicine in the Helmholtz Association

(๕) Fraunhofer Institute for Production Systems and Design Technology

 

         ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยซึ่งฐานทางเศรษฐกิจชีวภาพที่เข้มแข็งมากประเทศหนึ่ง ในฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลกและในฐานะประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง ให้สามารถใช้ฐานทางเศรษฐกิจชีวภาพที่เข้มแข็งนั้น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงที่สุดโดยไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกร ชุมชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรนั้น และผู้ประกอบการรายย่อยได้ประโยชน์อย่างเหมาะสม เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ