ไทยจับมือภาคเอกชนและ NGO ชี้แจงความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย

ไทยจับมือภาคเอกชนและ NGO ชี้แจงความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,773 view
          เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๑ นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนา "Thailand's Path to Sustainable Fisheries" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างการจัดงาน Seafood Expo Global 2018 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าประมง สื่อมวลชน และองค์กรภาคประชาสังคมจากทั่วโลก และผู้บรรยายของไทยประกอบด้วยผู้แทนจากกรมประมง กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล (Stella Maris)
          นายมนัสวีฯ ได้กล่าวถึงภาพรวมของความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังของรัฐบาลไทยต่อนโยบาย Zero Tolerance จนประชาคมระหว่างประเทศยอมรับว่า ไทยได้ยกเครื่องการทำประมงทั้งระบบจนมีระบบควบคุมที่ทันสมัยอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชีย และมีกรอบกฎหมายที่แข็งแรงและครอบคลุมมากที่สุด
          นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ย้ำถึงกรอบกฎหมายและระบบควบคุมที่พัฒนาจนมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประเทศปลอดสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำการประมงผิดกฎหมาย (IUU-free Thailand)  นอกจากนี้ พ.ต.ท. รชตโชค สวยกลาง ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินคดีเรือประมงผิดกฎหมายที่สำคัญ และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย และนางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมงที่ดำเนินคู่ขนานไปกับการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายด้วย
          นายชนินทร์ ชลิศราพงษ์ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของสมาคมฯ ที่ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในการส่งเสริมการทำประมงที่ยั่งยืนและมาตรฐานแรงงานที่ถูกจริยธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยสมาคมฯ ได้รายงานการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติด้านแรงงานสำหรับสมาชิกสมาคมฯ ต่อคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ของสหประชาชาติ ที่ได้เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ถึงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๑ ด้วย
          นางอภิญญา ทาจิตต์ รองผู้อำนวยการ Stella Maris ได้ย้ำว่า ตนเป็นผู้แทนภาคประชาสังคม มิได้กล่าวในนามรัฐบาลไทย แต่ต้องการสะท้อนภาพความเป็นจริงของการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงของรัฐบาลไทยซึ่งดีขึ้นมากจากในอดีต ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน ไม่ใช่รัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว ขณะนี้ ภาคประชาสังคมได้เข้าร่วมทำงานแก้ไขปัญหากับภาครัฐในหลายเรื่อง และทุกฝ่ายควรมองปัจจุบันและอนาคตมากกว่าการใช้ข้อมูลเก่ามามุ่งบั่นทอนการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง 
          นอกจากการจัดเสวนาข้างต้นแล้ว คณะผู้แทนไทยยังได้เข้าร่วมงานเสวนาเรื่อง “The EU and the Social Dimension of Fisheries” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการยุโรป ในระหว่างการจัดงาน Seafood Expo Global 2018 ด้วย โดยคณะได้รับฟังถ้อยแถลงของนาย Karmenu Vella กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและประมงสหภาพยุโรป ซึ่งย้ำถึงความจำเป็นที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสภาพการทำงานและความปลอดภัยบนเรือประมงสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบนเรือ และสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา ILO เพื่อคุ้มครองการปฏิบัติต่อแรงงานบนเรือประมงที่ไม่ถูกต้องด้วย โดยยกไทยเป็นตัวอย่างที่มีความคืบหน้าด้านการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงผ่านกลไกการหารือกับสหภาพยุโรปด้วย
          อธิบดีกรมประมงได้กล่าวเสริมให้ผู้ร่วมงานทราบว่า ไทยกำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมายภายในประเทศเพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล (C188) และคาดว่าไทยจะสามารถให้การรับรองอนุสัญญาดังกล่าวได้ภายในปี ๒๕๖๑ นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมการเสวนากล่าวสนับสนุนความร่วมมือของไทยกับ ILO ในการเตรียมให้สัตยาบันต่อ C188 และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ยังไม่ได้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวพิจารณาให้สัตยาบันต่อไปด้วย
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ