นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๒ ณ สิงคโปร์

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๒ ณ สิงคโปร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 เม.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,568 view
เมื่อวันที่ ๒๗ - ๒๘ เมษายน ๒๕๖๑ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๒ ณ สิงคโปร์ ประกอบด้วย (๑) การประชุมสุดยอดอาเซียนเต็มคณะ (Plenary) และการประชุมสุดยอดอาเซียน อย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) 
 
เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๑​ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนเต็มคณะ โดยได้แสดงความชื่นชมและสนับสนุนแนวคิดสำคัญของสิงคโปร์ในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งและมีนวัตกรรมเพื่อให้ประชากรของอาเซียนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยอาเซียนควรให้ความสำคัญกับ ๓ ประเด็นหลัก ดังนี้ 
 
๑. การพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียน ศูนย์อาเซียนเพื่อการหารือและการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นตัวขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค การพัฒนาศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและมีนวัตกรรมจะช่วยรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในการเข้าสู่สังคมสูงวัยของอาเซียน นอกจากนี้ อาเซียนจำเป็นต้องมีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยมีความยินดีที่อาเซียนจะรับรองถ้อยแถลงผู้นำว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และเชื่อมั่นว่าศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จะเสริมสร้างศักยภาพของอาเซียนในเรื่องนี้
 
๒. การใช้นวัตกรรมนำโดยการเร่งผลักดันอาเซียนให้เป็นประชาคมดิจิทัล ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์และรับผิดชอบสังคมยุคใหม่ พร้อมสนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย โดยอาเซียนต้องเริ่มศึกษาแนวโน้มสำคัญของโลกและผลกระทบของนวัตกรรมต่ออาเซียนอย่างน้อย ๒๐ ปีข้างหน้า เพื่อบริหารจัดการให้ประชาคมอาเซียนก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
 
๓. การให้ความสำคัญกับประเด็นทางยุทธศาสตร์ที่จะตอบโจทย์ทั้งในส่วนของการสร้างความเข้มแข็งและนวัตกรรม โดยมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในไทยซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนความเชื่อมโยงที่สำคัญทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการใช้นวัตกรรมให้เกิดพลวัตสูงสุด นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียินดีและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนตามข้อริเริ่มของสิงคโปร์ในการใช้เมืองหลักและรองขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการสร้างเมืองอัจฉริยะของไทย 
 
เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๑ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในระหว่างการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ โดยได้กล่าวถึงประเด็นการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก การรวมตัวทางเศรษฐกิจโดยการพัฒนาอาเซียนให้เป็นฐานผลิตและตลาดเดียว รวมทั้งดำเนินการตามแผนงานความร่วมมืออาเซียนบวกสามอย่างเต็มที่และเป็นรูปธรรม รวมทั้งการเร่งให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว สนับสนุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีนในทะเลจีนใต้โดยเฉพาะในเรื่องการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct on South China Sea - COC) เพื่อปรับเปลี่ยนให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนพัฒนาการเชิงบวกในสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีโดยเฉพาะการหารือระหว่างผู้นำสาธารณรัฐเกาหลีและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีและการสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มเติมและช่วยเหลือเมียนมาในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในรัฐยะไข่

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ