โครงการจัดจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ ๓

โครงการจัดจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ ๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 เม.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,575 view
          ตามที่กระทรวงการต่างประเทศใช้ระบบการให้บริการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยว่าจ้างบริษัทเอกชนเป็นผู้ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ โดยขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากระยะที่ ๒ สู่ระยะที่ ๓ (Repeat Order) ซึ่งสัญญาจะสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ นั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการ ดังนี้
          ๑. กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล โดยเน้นความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อราชการ ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทำให้ที่ผ่านมากรมการกงสุลได้รับรางวัลด้านการบริการประชาชนหลายรายการด้วยกัน และล่าสุดได้รับการคัดเลือกเป็นศูนย์ราชการสะดวกประจำปี ๒๕๖๐ 
          ๒. ในการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ ๓ กระทรวงการต่างประเทศตั้งเป้าจะพัฒนารูปแบบหนังสือเดินทางและยกระดับมาตรฐานการให้บริการให้สูงกว่าโครงการฯ ระยะที่ ๒ อาทิ 
               (๑) การลดระยะเวลาการรับคำร้องจาก ๒๐ นาที เหลือ ๑๒ นาที 
               (๒) การเพิ่มอายุการใช้งานหนังสือเดินทางสำหรับผู้บรรลุนิติภาวะแล้วจากเดิม ๕ ปี เป็นสูงสุด ๑๐ ปี 
               (๓) การยกระดับการเก็บข้อมูลชีวมาตร (biometrics) โดยให้มีการเก็บข้อมูลม่านตาเพิ่มเติมจากเดิมที่ใช้เพียงใบหน้าและลายนิ้วมือเท่านั้น 
               (๔) การเพิ่มศูนย์ผลิตหนังสือเดินทางอีก ๑ แห่ง จากเดิมที่สามารถผลิตได้ที่กรมการกงสุลเพียงแห่งเดียว เพื่อมิให้การบริการประชาชนหยุดชะงักเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน 
          ๓. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้เตรียมการเพื่อให้ดำเนินโครงการฯ ระยะที่ ๓ เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และคำนึงถึงความเป็นธรรมและเปิดกว้างในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ โดยได้ใช้วิธีการประกาศเชิญชวนทั่วไปผ่านระบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มีการตั้งคณะกรรมการรองรับภารกิจต่าง ๆ หลายชุด ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเทคนิคจากหน่วยงานภายนอกร่วมอยู่ด้วย ทั้งยังได้เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมกับกรมบัญชีกลาง และเชิญผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน โดยเฉพาะขั้นตอนการยกร่าง TOR และกำหนดราคากลาง
          ๔. เพื่อความโปร่งใสและรัดกุม กระทรวงการต่างประเทศได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง TOR ร่างประกาศ และร่างเอกสารจ้างด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
               - ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๕ – ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ โดยมีผู้สนใจกดอ่านรายละเอียดจำนวน ๔,๓๘๘ ครั้ง และมีภาคเอกชนส่งคำถามเข้ามาทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] จำนวน ๒๐ ราย 
               - ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ มีผู้สนใจกดอ่านรายละเอียด ๑,๖๓๐ ครั้ง และมีภาคเอกชน ๒๐ ราย บุคคลทั่วไป ๑ ราย ส่งคำถามเข้ามาทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ฯ
           ๕. ภายหลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง TOR ทั้งสองครั้ง ปรากฏว่ามีข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนให้ ขยายระยะเวลาการยื่นเสนอราคาและวันที่เข้าทำการสาธิตและทดสอบเปรียบเทียบสมรรถนะของระบบเพื่อให้เตรียมการได้มากขึ้น กระทรวงการต่างประเทศตลอดจนคณะกรรมการ TOR จึงเห็นควรให้ปรับระยะเวลาการดำเนินการตามขั้นตอน  การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมการเพิ่มขึ้น 
           ๖. นอกจากนี้ เพื่อให้กระบวนการในเรื่องนี้รอบคอบรัดกุมมากขึ้น เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๑ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงการต่างประเทศเสนอเรื่องโครงการฯ ระยะที่ ๓ ให้คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างพิจารณา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการแล้ว และได้ปรับแก้เนื้อหาของ TOR ตามข้อคิดเห็นของคณะกรรมการฯ จากนั้นได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง TOR ครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๔ - ๙ เมษายน ๒๕๖๑ เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สนใจกดอ่านรายละเอียด ๑,๕๗๔ ครั้ง และมีภาคเอกชน ๕ ราย ส่งคำถามเข้ามา โดยขณะนี้โครงการฯ ระยะที่ ๓ อยู่ในขั้นตอนการเผยแพร่ประกาศและเอกสารจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีระยะเวลาระหว่างวันที่ ๑๑ เมษายน – ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑ 
          ๗. กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำข้อชี้แจงต่อแนวคำถาม/ข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๑ และนำส่งให้แต่ละบริษัทแล้ว ขณะนี้อยู่ในกระบวนตอนการตอบคำถามจากการเปิดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ ๒ และ ๓ และจะจัดส่งให้แต่ละบริษัทต่อไป