อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคี ในหัวข้อ “Making best use of the value added of triangular cooperation” ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส

อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคี ในหัวข้อ “Making best use of the value added of triangular cooperation” ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 เม.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 703 view

           ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๘ เมษายน ๒๕๖๑ นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคี (International Meeting on Triangular Cooperation) ในหัวข้อ “Making best use of the value added of triangular cooperation” ตามคำเชิญขององค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของโปรตุเกส (Camoes) และสำนักความร่วมมือเพื่อการพัฒนา องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) โดยมีผู้เข้าร่วมจาก ๔๓ ประเทศ ซึ่งในแถบเอเชียมีประเทศไทย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และกาตาร์ เข้าร่วม นอกจากนี้  มีองค์การระหว่างประเทศ ๑๔ แห่ง องค์กรจากภาคเอกชนมูลนิธิและภาคประชาสังคม ๗ แห่ง เข้าร่วมการประชุม ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส

          ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมความร่วมมือฯ ได้พบหารือกับ นาย Jorge Moreira da Silva, Director Development Co-operation Directorate, OECD ซึ่งมีความสนใจที่จะริเริ่มกิจกรรมด้านการพัฒนากับ TICA และ TICA มีความสนใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับระบบรวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลด้านการพัฒนา ซึ่ง TICA ได้รวบรวมข้อมูลด้านนี้ให้ OECD
มาอย่างต่อเนื่อง และประสงค์จะปรับการทำงานให้ตอบสนองต่อแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาให้มากขึ้น ทั้งในส่วนภายในประเทศ และในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่ง OECD รับที่จะให้ความร่วมมือและจะพิจารณาจัดคณะผู้เชี่ยวชาญมาไทยเพื่อให้ข้อมูลและหารือกับ TICA ในโอกาสแรก

          นอกจากนี้ อธิบดีกรมความร่วมมือฯ พบหารือกับ นาย Gonçalo Teles Gomes, Vice-Presidente, Camoes – Instituto da Cooperacao e da Lingua ซึ่ง CAMOES รับทราบเกี่ยวกับกิจกรรมความร่วมมือของ TICA ที่มุ่งเน้นความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ร่วมกัน และยินดีที่จะร่วมมือกับ TICA
ในโครงการพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะในประเทศที่พูดภาษาโปรตุเกส เช่น กินีบิสเซา โดย TICA ได้นำเสนอแนวทางความร่วมมือที่ไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลาง (hub) ด้านการพัฒนาให้แก่ประเทศอื่น ๆ ในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญที่พัฒนาขึ้นมาจากความรู้ดั้งเดิมและที่ผสมผสานกับความช่วยเหลือทางวิชาการที่ได้รับจากต่างประเทศด้วย เช่น เกษตรกรรมและการแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยว การอาชีวศึกษา การแพทย์ทางเลือกและเวชภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการริเริ่มความร่วมมือไตรภาคีของโปรตุเกสและไทยให้แก่ประเทศที่สามได้

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ