ศาลไทยตัดสินจำคุกจำเลยคดีค้ามนุษย์บนเรือประมงคนละ ๙ ปี ๔ เดือน และคดีเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับสินบนจากการค้ามนุษย์คนละ ๕ ปี

ศาลไทยตัดสินจำคุกจำเลยคดีค้ามนุษย์บนเรือประมงคนละ ๙ ปี ๔ เดือน และคดีเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับสินบนจากการค้ามนุษย์คนละ ๕ ปี

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 มี.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 1,291 view
เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๑ ศาลอาญาได้พิพากษาจำเลย ๒ ราย ฐานหลอกลวงผู้อื่นไปค้ามนุษย์บนเรือประมง โดยมีโทษจำคุกคนละ ๙ ปี ๔ เดือน  ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้ถูกหลอกลวงโดยผ่านนายหน้า ซึ่งพาผู้เสียหายไปส่งมอบให้จำเลยทั้งสองคน เพื่อทำงานที่แพปลา และต่อมาถูกส่งไปทำงานบนเรือประมง ป. สมุทรชัย ๖๒ ซึ่งเป็นของจำเลยคนที่ ๑ โดยมีจำเลยคนที่ ๒ ซึ่งเป็นไต้ก๋งเรือ  ระหว่างทำงานบนเรือ ผู้เสียหายไม่ได้รับค่าจ้างตามที่จำเลยได้สัญญาไว้ และมีเวลาพักผ่อนและได้รับอาหารไม่เพียงพอ ผู้เสียหายจึงได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองคน
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๑ ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกจำเลย ๔ ราย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ รายละ ๕ ปี ฐานเรียกรับผลประโยชน์จากการลักลอบค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา ๔๐ คน ในจังหวัดสงขลา แล้วปล่อยตัวผู้ต้องหาไปเมื่อปี ๒๕๕๙ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐได้ชี้มูลความผิดอาญาและความผิดวินัยร้ายแรง และต่อมา สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริตได้ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้ลงโทษไล่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง ๔ นาย ออกจากราชการแล้ว ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน ๑๓ นาย พ้นจากหน้าที่ ซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาพัวพันการค้ามนุษย์ใน ๔ คดี ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการสอบสวนเพื่อลงโทษทางวินัยและทางอาญาด้วย
 
ผลการพิจารณาคดีทั้งสองคดี สะท้อนความจริงจังของรัฐบาลไทยในการปราบปรามการค้ามนุษย์ทั้งระบบ และการลงโทษสถานหนักต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่พัวพันการค้ามนุษย์โดยเฉพาะในภาคประมง โดยนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ มาจนถึงปัจจุบัน ทางการไทยได้ดำเนินคดีค้ามนุษย์ในภาคประมงจนถึงที่สุดแล้ว ๔๐ คดี จากทั้งหมด ๘๕ คดี โดยมีคดีที่เจ้าของเรือถูกลงโทษจำคุกสูงสุดถึง ๑๑ ปี