รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเลขาธิการบริหารเอสแคปจะเป็นประธานการประชุม 2nd High-Level Brainstorming Dialogue on Enhancing Complementarities between ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑ ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ เอสแคป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเลขาธิการบริหารเอสแคปจะเป็นประธานการประชุม 2nd High-Level Brainstorming Dialogue on Enhancing Complementarities between ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑ ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ เอสแคป

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,228 view
ไทยและเอสแคปจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม High-Level Brainstorming Dialogue on Enhancing Complementarities between ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development ครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑ ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ เอสแคป โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาง Shamshad Akhtar เลขาธิการบริหารเอสแคป เป็นประธานร่วม และมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งผู้แทนระดับสูงของหน่วยงานสหประชาชาติ และประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย อาทิ ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้ช่วยผู้บริหารสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ผู้แทนจากองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ผู้แทนจากสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือแบบใต้-ใต้ (UNOSSC) ธนาคารโลก ผู้แทนจากเยอรมนีในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียน และสวิตเซอร์แลนด์กับนอร์เวย์ในฐานะหุ้นส่วนเฉพาะสาขาของอาเซียนเข้าร่วมด้วยในฐานะแขกของประธาน 
 
การประชุมภายใต้หัวข้อดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือประเด็นที่อาเซียนควรให้ความสำคัญเพื่อให้การขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติดำเนินควบคู่กันไปในลักษณะเกื้อกูลกัน โดยที่ประชุมจะเปิดตัวรายงาน Complementarities Report ซึ่งจัดทำขึ้นโดยประเทศไทย เอสแคปและสำนักเลขาธิการอาเซียน ตามข้อเสนอของที่ประชุม High-Level Brainstorming Dialogue ครั้งที่ ๑ โดยรายงานดังกล่าวศึกษา ๕ ประเด็นสำคัญที่อาเซียนควรให้ความสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียน ได้แก่ (๑) การเสริมสร้างความแข็งแกร่ง (๒) การขยายโครงสร้างพื้นฐาน (๓) การขจัดความยากจน (๔) การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (๕) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และจะใช้โอกาสของการประชุมนี้พิจารณาข้อเสนอแนะที่ปรากฏในรายงานด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือกันเกี่ยวกับการจัดทำ Complementarities Roadmap ค.ศ. ๒๐๑๘ – ๒๐๑๙ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียนให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการหารือและการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue) ในประเทศไทยด้วย 
 
อนึ่ง ไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ซึ่งไทยได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน โดยได้หารือกับหน่วยงานข้างต้น รวมถึงประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและหุ้นส่วนเฉพาะสาขาของอาเซียนอย่างใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประชาชนไทยและประชาชนอาเซียนอย่างยั่งยืน